เปิด 3 แนวทางช่วย"กลุ่มเปราะบาง" ไม่ได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเราชนะ.com

27 ม.ค. 2564 | 22:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2564 | 01:34 น.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เตรียมแผนรองรับ"กลุ่มเปราะบาง"ที่ไม่ได้รับสิทธิ์เยียวยาในโครงการ"เราชนะ" ไม่สามารถลงทะเบียนเราชนะ.com

หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการเยียวยารอบ 2 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินการผ่านโครงการ "เราชนะ" ซึ่งรัฐฯจะสนับสนุนวงเงินเยียวยา 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.–มี.ค. 2564) และจะเปิดให้ลงทะเบียนwww.เราชนะ.com ในวันที่ 29 มกราคมนี้ 


อย่างไรก็ดีมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ"เราชนะ"อย่างกลุ่มเปราะบาง โดยเรื่องนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ได้เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ขาดคุณสมบัติไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการ “เราชนะ”  ทางกระทรวง พม. ได้เตรียมมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ 3 แนวทางได้แก่

 
1. ประเมินครอบครัวเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการตามภารกิจกระทรวง พม. อาทิ เงินสงเคราะห์  เงินทุนประกอบอาชีพ เป็นต้น 


2.เสริมพลัง สร้างความเข้าใจ และแนะนำทางเลือกของครอบครัวสำหรับการมีรายได้ และอาชีพ 


3. ติดตามการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

 

กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถรับสิทธิ์ในโครงการเราชนะ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ทุกจังหวัด ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อขอความช่วยเหลือเร่งด่วนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  ส่วนกลุ่มเปราะบางบางที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการ “เราชนะ” ในกลุ่มนี้ กระทรวงพม. จะมอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด ร่วมกับทีม  พม. One Home ในจังหวัด ประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)


หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ และสายด่วน พม. โทร.  1300 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเปราะบางทุกคนที่มีสิทธิ์ได้รับทราบและลงทะเบียนโครงการดังกล่าว อีกทั้งช่วยเหลือผู้รับบริการในสถานรับรองของกระทรวง พม. ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้เข้าถึงสิทธิ์ตามโครงการฯ 


"เราในฐานะที่กำกับดูแล มีภารกิจคอยช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย ก็ได้เตรียมแนวทางไว้ 2 รูปแบบ เพื่อรองรับทั้งกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ของโครงการเยียวยานี้ และกลุ่มที่มีสิทธิ์  ซึ่งเราจะดูแลสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงสิทธิ์นี้ได้" นางพัชรี กล่าว