นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งสอดรับกับมาตรการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ปี 2560 – 2564 ที่มีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก และได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 12 แห่ง พัฒนาและเปิดตัวเว็บศูนย์รวม www.รู้เรื่องเงิน.com แหล่งรวมข้อมูลพื้นฐานด้านการเงินจากเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐเป็นแห่งแรกของไทย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินด้วยตนเองของประชาชน ที่ข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยครอบคลุมทุกช่วงวัย หลายอาชีพ
การดำเนินการครั้งนี้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ได้รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา เกี่ยวกับรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนไทย (Financial Literacy) ซึ่งเสนอแนะให้จัดทำช่องทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและติดตามพัฒนาการของความรอบรู้ทางการเงินของประชาชนในวงกว้าง โดยการจัดทำเว็บไซต์ รู้เรื่องเงิน.com นี้ มุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ทางการเงินที่เชื่อถือได้ เรียนรู้และพัฒนาทักษะและบริหารจัดการเงินด้วยตนเอง สามารถเลือกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เหมาะสม รู้วิธีการทำเงินออมให้งอกเงยด้วยการลงทุน และมีภูมิคุ้มกันรู้ทันภัยกลโกงทางการเงิน ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับการสนับสนุนข้อมูลและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านบทความ อินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอ รวมถึงรูปแบบที่ทำให้เว็บไซต์ใช้งานได้สะดวก
www.รู้เรื่องเงิน.com เป็นเว็บศูนย์รวมข้อมูลพื้นฐานในการสร้างทักษะบริหารจัดการเงินจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินด้วยตนเองของประชาชน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็วจากแหล่งเดียว เหมาะสำหรับบุคคลทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยเกษียณ สามารถเลือกสืบค้นได้จากอาชีพเฉพาะด้าน เช่น เกษตรกร ข้าราชการ ผู้มีรายได้ประจำ อาชีพอิสระ และเจ้าของกิจการ และสามารถสืบค้นได้จากหัวข้อที่สนใจ เช่น การทำความรู้จักผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ความรู้การเงินดิจิทัล สิทธิและหน้าที่ของคนไทยด้านการเงิน มาตรการทางการเงินของภาครัฐ แนวทางการลงทุนเพื่อรองรับการเกษียณสุข และรูปแบบภัยทางการเงินที่ต้องระวัง รวมทั้งยังเป็นแหล่งรวมของช่องทางแจ้งเบาะแสและติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐโดยตรง
สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 12 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สำนักงานประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Upskill-Reskill ก่อนกลายเป็น "ชนชั้นไร้ประโยชน์
มหิดล เฉียบ พัฒนาแอปเช็คอิน-เอาท์ ลดเสี่ยงโควิด19ใช้เอง
"Put the right man on the right job" ฟังดูง่าย แต่ทำ...ยากมาก