นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในระยะเร่งด่วน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -เมษายน 2564 จำนวน 2 ล้านโดสแรก จะกระจายใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรปราการ
นอกจากนี้ จะเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด และพื้นที่ที่มีการพบการติดเชื้อต่อเนื่อง คือ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจะให้บริการในสถานพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉินทั้งรัฐและเอกชน แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น โดย 1 คนจะฉีด 2 เข็ม
ทั้งนี้ตามแผนแล้ว จะมีการดำเนินการฉีดวัคซีนดังนี้ 1.สมุทรสาครจะมีการฉีด 8.2 แสนโดส จำนวน 4.1 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 6,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 36,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.5 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 2.1 แสนคน
2.กรุงเทพฯ 8 แสนโดส จะมีการฉีดวัคซีน จำนวน 4 แสนคน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 32,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 1 แสนคน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 แสนคน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1.6 แสนคน
3.จังหวัดนนทบุรี จะมีการฉีด 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน ส่วนใหญ่จะนำร่องโดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
4.จังหวัดปทุมธานี 26,000 โดส จำนวน 13,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
5.จังหวัดสมุทรปราการ 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 9,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 5,000 คน
6.จังหวัดระยอง 18,000 โดส จำนวน 9,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
7.จังหวัดชลบุรี จำนวน 28,000 โดส จำนวน 14,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 10,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 คน
8.จันทบุรี จำนวน 16,000 โดส จำนวน 8,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 6,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน
9.จังหวัดตราด 12,000 โดส จำนวน 6,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 5,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 1,000 คน
10.พื้นที่จังหวัดตาก 1.6 แสนโดส จำนวน 80,000 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 8,000 คน เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 คน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 10,000 คน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,000 คน และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 50,000 คน
รวมทั้งสิ้นที่จะนำร่องฉีดวัคซีนจำนวน 1,934,000 โดส จำนวน 967,000 คน ส่วนอีก 66,000 โดส สำหรับ 33,000 คนนั้นจะสำรองไว้เผื่อมีพื้นที่อื่นระบาดเกิดขึ้น โดยจะให้กับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ระบาดเพื่อเป็นการสกัดวงการแพร่เชื้อ
นพ.โสภณ ระบุว่าการฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 จะมีการทะยอยฉีดจำนวน 61 ล้านโดส จะกระจายในช่วงเดือนมิถุนายน และให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 มีอัตราการฉีดในโรงพยาบาลที่แพทย์และห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ 1,000 แห่ง อย่างน้อยวันละ 500 โดส ฉีดติดต่อกันทุกสถานที่ 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่หากในอนาคตเมื่อวัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้น กรมควบคุมโรค อาจพิจารณาขยายการให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำล (รพ.สต.) ขนาดใหญ่บางแห่งที่มีอุปกรณ์
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 26 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2,879 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน กลุ่มตัวอย่างระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ 70% ผู้สูงอายุ 40% ทุกคน 35% ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 33 % และเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ 22 % แต่ทางวิชาการกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เพราะวัคซีนเป็นการใช้ภาวะฉุกเฉินเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามว่า หากไม่มีรายงานการติดเชื้อ การป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ยังต้องการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ยังต้องการมาก ปานกลางและน้อย รวมประมาณ 70% ไม่ต้องการฉีด 18% และไม่แน่ใจ 12%
ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกของประชาชนในการฉีดวัคซีน