วัคซีนป่วน รัฐยื้อเอกชนนำเข้า ทางเลือก 10 ล้านโดสส่อเลื่อนยาว

21 เม.ย. 2564 | 09:05 น.

การประชุมนัดแรกของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงบ่ายของวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข อย. องค์การเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการจัดหาวัคซีนโควิดมาฉีดให้กับประชาชนให้ครอบคลุม 70% ซึ่งเบื้องต้นวางแผนนำเข้าวัคซีน 10 ล้านโดส ทำให้ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ

ผลการประชุมพบว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ โรงพยาบาลเอกชน สามารถ นำเข้าวัคซีน อื่นได้ แต่ห้ามซ้ำกับวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าอยู่แล้ว คือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า (รวมถึง Sputnik V ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการขอขึ้นทะเบียน) อาทิ ไฟเซอร์, Moderna, Sinopharm และ Novavax ฯลฯ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนเองต่างต้องการให้ ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน รวดเร็ว เพื่อนำเข้าและฉีดให้กับประชาชนได้เร็วที่สุดเพราะการขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องใช้ระยะเวลานาน 1-2 เดือน ดังนั้น เบื้องต้นจึงยังไม่สามารถนำเข้าวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดสในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อฉีดให้กับประชาชนจำนวน  5 ล้านคน ได้ตามแผนที่วางไว้ก่อนหน้า

นำเข้า10ล.โดสฝันสลาย

สาเหตุสำคัญคือ รัฐบาลไม่ต้องการให้ถูกมองว่าลักลั่น บางคนฉีดฟรีและบางคนเสียเงิน ซึ่งในความเป็นจริง หากมีวัคซีนที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดย่อมเป็นเรื่องดี คนที่มีกำลังซื้อและต้องการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรของตนเองถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งวันนี้หน่วยงานหลายแห่งทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ต่างต้องการวัคซีนจำนวนนับล้านโดส เพื่อฉีดให้กับบุคลากร สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา

จี้ปลดล็อกนำเข้าวัคซีน

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือTHG  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อโรงพยาบาลทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก ICU เพราะฉะนั้นแนวทางสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพราะเป็นกรณีฉุกเฉิน หากรัฐบาลปลดล็อกโรงพยาบาลเองก็ต้องการนำเข้าวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เพราะการฉีดวัคซีนวันนี้กว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันและฉีดครบ 2 โดสต้องกินเวลานานถึง 3 เดือน

“วัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วน เอกชนไม่มีใครพูดเรื่องราคาเพราะอยากให้ประชาชนได้ฉีดให้ได้มากที่สุด และจะเป็นวัคซีนอะไรก็ได้ จะเป็นซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้าที่ขึ้นทะเบียนแล้วก็ได้ แต่ถ้าหากให้นำเข้าวัคซีนอื่น ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์, Moderna, Sputnik V , Sinopharm และ Novavax ก็ต้องขึ้นทะเบียนให้เร็วที่สุด”

รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของวัคซีนปัญหาใหญ่ในช่วง 3 เดือนนี้คือ จะทำอย่างไรกับคนที่ป่วยติดเชื้อและอาการหนัก เพราะห้อง ICU ก็ไม่เพียงพอที่จะรองจรับ วันนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องวัคซีนทางเลือกแล้วไตรมาส 3 จะเป็นอย่างไรไม่มีใครตอบได้

ควานหาเพิ่ม 30 ล้านโดส

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากที่หอการค้าไทยได้ประชุมร่วมกับประธานเจ้าหน้าบริหาร (ซีอีโอ) กว่า 40 บริษัทใหญ่ในทุกกลุ่มธุรกิจของไทย ผ่านระบบประชุมทางไกลและมีข้อสรุปสำคัญคือ การเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกโดยโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชนเพื่อให้คนไทยได้ฉีดครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกมาเสริมจากที่รัฐบาลจัดหาอีก 30 ล้านโดส โดยวัคซีนที่ภาคเอกชนมีคอนเน็กชั่นและสามารถจัดหาได้ อาทิ Moderna , Pfizer, Sinopharm, CanSino Biologics, COVAXIN , Sputnik V จากรัสเซีย เป็นต้น

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสนับสนุนภาครัฐในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และเร่งเปิดประเทศ ทางหอการค้าไทยและเครือข่ายได้แบ่งงานออกเป็น 4 ทีม ได้แก่

1.ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนทั้งด้านสถานที่ในการฉีดวัคซีน บุคลากร อาสาสมัครและอุปกรณ์ไอที

2. ทีมการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้กับประชาชน

3. ทีมเทคโนโลยีและไอทีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ และ

4. ทีมจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส

“สรุปคือภาคเอกชนภาคเอกชนพร้อมเข้าไปสนับสนุนภาครัฐในทุกรูปแบบ ทุกมิติ ที่เราเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลจะต้องไปปลดล็อกอย่างเดียวก็คือ จะทำอย่างไรถึงไปเอาวัคซีนเข้ามาได้เร็วที่สุด”


วัคซีนป่วน รัฐยื้อเอกชนนำเข้า ทางเลือก 10 ล้านโดสส่อเลื่อนยาว

ภูเก็ตมั่นใจมิ.ย.ฉีด 70%

นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า มีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้โดยรัฐบาลจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในภูเก็ต อย่างน้อย 70% ของประชากรตามกำหนด ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จเร็วที่สุดหรือช้าต้องไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วมาท่องเที่ยวไทย โดยไม่ต้องกักตัวนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ได้ทันในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลประกาศไว้

ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ต ได้รับวัคซีนล็อต 2 จากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาอีก 1 แสนโดสและจะทยอยฉีดให้กับคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1-10 เมษายนจำนวน 1 แสนคนต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คนภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนแล้วคิดเป็นสัดส่วน 22% ของประชากร คาดว่าภูเก็ตจะได้รับวัคซีนอีก 2 แสนโดสในเดือนพ.ค.นี้ และได้รับต่อเนื่องในเดือน มิ.ย.นี้ ก็จะทำให้คนภูเก็ตได้รับวัคซีนคิดเป็นสัดสวน 60-70% ของประชากร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้าภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว “Phuket Tourism Sandbox” ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564