สธ.เตือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ระมัดระวังอุบัติเหตุจากฝนฟ้าคะนอง

21 เม.ย. 2564 | 11:21 น.

สาธารณสุขเตือนอันตรายหลากหลายรูปแบบที่มากับพายุฝนฟ้าคะนอง แนะวิธีการหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยจากพายุฤดูร้อน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคใต้ ให้ระมัดระวัง อุบัติเหตุจากฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ และขณะฝนตกอาจทำให้ถนนเปียกลื่น มีน้ำขัง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ พร้อมแนะ วิธีขับขี่ให้ปลอดภัย เน้นลดความเร็ว หลีกเลี่ยงการแซง และระมัดระวังก่อนขับรถผ่านจุดที่มีน้ำท่วมขัง

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าววันนี้ (21 เม.ย.) ว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงสัปดาห์นี้บางพื้นที่ของประเทศไทยอาจมีฝนตก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนระมัดระวังขณะมีฝนฟ้าคะนอง อาจมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิต

นอกจากนี้ ขณะฝนตกอาจทำให้ถนนเปียกลื่น ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี บางพื้นที่มีฝนตกหนัก และอาจมีน้ำท่วมขังบนผิวถนนบางช่วง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ขอให้เพิ่มความระมัดระวังขณะขับขี่ด้วย

กรมควบคุมโรคแนะนำให้ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เช่น ที่ปัดน้ำฝน หรือระบบไฟฟ้า ขณะฝนตกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยเปิดไฟต่ำเพื่อช่วยให้มองเห็น เปิดที่ปัดน้ำฝน ลดความเร็ว ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการแซง ถ้าหากจำเป็นควรประเมินสถานการณ์ก่อนทุกครั้ง รวมถึงระมัดระวังการขับรถผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง อาจเกิดการเหินน้ำและสูญเสียการควบคุมทิศทางได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดย

  • สวมหน้ากาก100%
  • รักษาระยะห่าง
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัดหรือสถานที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19
  • พร้อมทั้งสแกน “ไทยชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง

หรือหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง