นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานในประเทศชาอุดีอาระเบียพบว่า มีมิจฉาชีพกลุ่มหนึ่งอาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์รับสมัครงาน หรือเว็บไซต์รับฝากประวัติเพื่อสมัครงาน (Portfolio / Curriculum Vitae) ติดต่อไปยังคนหางาน โดยแอบอ้างเป็นตัวแทนบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศซาอุฯ เพื่อให้โอนเงินซึ่งอ้างว่าเป็นค่าตรวจลงตราและใบอนุญาตทำงานประมาณ 8 หมื่นบาทไปยังบัญชีธนาคารที่มีชื่อบัญชีเป็นคนไทย เบื้องต้นคาดว่ามิจฉาชีพอาจมีผู้ร่วมขบวนการเป็นคนไทย หรือสามารถเข้าถึงบัญชีที่เปิดโดยไม่ถูกต้องของไทยได้ เป็นเหตุให้เน้นเป้าหมายมาที่กลุ่มคนหางานไทย
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เพราะเป็นผู้ที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทย และนำความรู้ ทักษะฝีมือ ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานกลับมาต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกันแรงงานก็ได้รับค่าตอบแทนจำนวนมาก จนสามารถยกระดับความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ ทำให้คนหางานจำนวนมากหวังจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ตำแหน่งงานในต่างประเทศที่เปิดรับสมัครนั้น ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อคนที่ต้องการเดินทางไปทำงาน ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงคนหางานว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ เช่นกรณีที่เกิดในประเทศซาอุฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ
ล่าสุดได้เร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทางของกระทรวงแรงงาน พร้อมประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบข้อมูลบัญชีที่ใช้ในการรับโอนเงิน และประสานสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยเพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีหลอกลวงข้างต้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและมีผู้ตกเป็นเหยื่อเพิ่มเติมจากการหลอกลวงไปทำงานประเทศซาอุฯ ขอให้คนหางานตรวจสอบข้อมูล และคำนึงถึงข้อสังเกตต่อไปนี้ ก่อนหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ใด
1. ปัจจุบันซาอุฯยังไม่มีการตรวจลงตราประเภททำงานอย่างเป็นทางการแก่ผู้ถือสัญชาติไทย โดยบริษัทที่จดทะเบียนในซาอุฯ ต่างทราบถึงข้อจำกัดนี้และมักจะไม่เสนอตำแหน่งงานแก่ผู้ที่มีสัญชาติไทย ดังนั้นการเสนอตำแหน่งงานในซาอุฯ แก่ผู้หางานสัญชาติไทยจึงเป็นเรื่องผิดสังเกต (ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจ้างงานโดยหน่วยงานพิเศษอาทิ พระราชวัง หรือหน่วยงานรัฐ)
2. อีเมลของตัวแทนนายจ้างควรเป็นทางการใช้โดเมนที่จดทะเบียนในนามบริษัท หรือเอเจนซี่จัดหางาน ไม่ควรเป็นอีเมลฟรี อาทิ @gmail หรือ @yahoo
3. ระมัดระวังอีเมลที่โดเมนจดทะเบียนคล้ายชื่อบริษัท ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือเพิ่มเติม เช่น หากท่านได้รับการติดต่อด้วยอีเมล hr@hyundaicons.com ท่านสามารถตรวจสอบหน้าโฮมเพจโดยพิมพ์ URL เช่น http://www.hyudaicons.com หรือ http:/hyundaicons.com ซึ่งโดยส่วนมากมิจฉาชีพมักจะไม่ได้จัดทำหน้าโฮมเพจไว้ทำให้ไม่สามารถเข้าหน้าเว็บไซต์ได้ อย่างไรก็ดีโปรดระวังการเคลื่อนย้าย (redirect) ไปยังโฮมเพจของบริษัทจริงซึ่งสามารถตรวจสอบจาก URL ที่เปลี่ยนไป
4. ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกับบริษัทนายจ้างต้องชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ทั่วไปจากการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต หมายเลขโทรศัพท์มักเป็นโทรศัพท์สำนักงาน ไม่ใช่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (สามารถตรวจสอบได้จากรหัสนำหน้าหมายเลข กรณีซาอุดีฯ มีรหัสประเทศ +966 และหากตามด้วยเลข 5 จะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น +966576302632 เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ของมิจฉาชีพ)
5. รูปแบบเอกสาร หรือสัญญาควรมีลักษณะเป็นทางการ ไม่มีคำผิด หรือประโยคที่ผิดหลักไวยากรณ์ มีตราประทับบริษัท หรือลงนามจริง มีการจัดหน้า ตัดคำที่เหมาะสม ใบสมัครงานควรมีช่องให้กรอกข้อมูลพอสมควร มิใช่มีเพียงหน้าเดียว เป็นต้น
6. การสมัครงานปกตินั้น กระบวนการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ และการตอบรับมักจะใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร หากพบว่านายจ้างตอบรับการเข้าทำงานเพียงแค่ตรวจสอบเอกสาร Portfolio/CV ใช้เวลา 1-2 วัน โดยไม่มีการสัมภาษณ์ หรือเร่งรัดให้ลงนามในเอกสารต่างๆ ขอให้พึงระวังว่าเป็นการหลอกลวง
7. การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการสมัครงานโดยที่ตัวแทนนายจ้างเป็นผู้ติดต่อคนหางานก่อน (Headhunting) ถือว่าเป็นเรื่องผิดสังเกต
“ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน มีการตรวจสอบสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ เมื่อมีการโพสต์ข้อความชักชวนคนหางาน ไปทำงานในต่างประเทศที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และเฝ้าระวังพฤติการณ์ของขบวนการค้ามนุษย์และกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเข้มงวด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 3 พฤษภาคม 2564 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อน 68 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 14,359,965 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด
ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ และสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 129 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงมหานคร 90 บริษัท และกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ 39 บริษัท” นายไพโรจน์ฯ กล่าว