แผนทบทวนการกระจายวัคซีนโควิด กระทั่งถึงการสั่งให้ชะลอการเปิดจองฉีดวัคซีนโควิด ผ่าน "หมอพร้อม" ประเด็นร้อนที่สังคมยังสับสน งงงวยกับข่าวที่เกิดขึ้น ล่าสุด ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warat Katuchit แจงเรื่องราวและข้อเท็จจริงของเรื่องราวดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจของสังคม ดังนี้
ทำไมถึง "ชะลอ" หมอพร้อม? ทำไมนโยบายรัฐถึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา?
คำตอบอย่างสั้น คือ เป็นการ "ปรับแผนตามสถานการณ์เปลี่ยนไป" เพื่อให้ได้ "ผลที่ดีขึ้นกว่าเดิม"
ถ้าอยากทราบคำอธิบายแบบยาว ลองอ่านต่อไปนะครับ
เริ่มตั้งแต่ต้น เดือนสองเดือนที่แล้ว เราตั้งใจจะให้ "ระบบหมอพร้อม" เป็นระบบในการกำหนดคนฉีดวัคซีน โดยเริ่มจากผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. จะฉีดให้หมด แล้วค่อยเริ่มประชาชนทั่วไปเดือน ส.ค.
แต่ผลคือ คนมาลงทะเบียนน้อย วัคซีนตามโควต้าเหลือ และการแพร่ระบาดเริ่มมากขึ้น บวกกับผลของการรณรงค์ทำให้คนต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้น
ศบค. โดยนายก จึงตัดสินใจว่า จะไม่รอกลุ่มคนแก่และกลุ่มเสี่ยงแล้วจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเลย ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 31 พ.ค.
ทีนี้ปัญหาคือ แล้วจะจัดสรรอย่างไร เพราะกลุ่มนี้มีจำนวนมาก หลายสิบล้านคน แต่เดือนแรกจะมีวัคซีนมาแค่ 6 ล้าน ถึงจะเสริมที่หามาเพิ่มอีกก็ยังไม่พอจึงต้องมีแผนการกระจายวัคซีนซึ่งก็มีการเสนอกันมาหลายสูตร จนถึงสูตรที่เสนอเข้าไปสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่นายกเป็นประธานซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่หลุดออกมาสู่สื่อต่าง ๆ ซึ่งในที่ประชุม โดยนายก ไม่ได้มีการรับตัวเลขนี้ทั้งหมด สาเหตุสำคัญคือ จะมีบางจังหวัดที่ได้วัคซีนช้ากว่าจังหวัดอื่นเป็นเดือนหรือสองเดือน ซึ่งในทุกจังหวัดแม้ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ก็มีความเสี่ยงหมด อยู่ดี ๆ อาจจะเกิดคลัสเตอร์ขึ้นมากระทันหันก็ได้ จึงได้ให้มีการปรับสูตรใหม่ (ดังนั้นตัวเลขที่สื่อต่าง ๆ นำไปออก จึงน่าจะไม่ใช่ตัวเลข final)
นอกจากนั้นยังให้เปลี่ยนแนวคิดจากการ Walk-In ที่คาดว่าจะเกิดปัญหา ให้เป็นการลงทะเบียนที่จุดบริการ (On-Site Registration)
ดังนั้น นายกในฐานะ ผอ.ศบค. จึงสั่งการให้ปรับแผน โดยหลักการคือทุกจังหวัดควรจะได้วัคซีนพร้อมกันอย่างน้อยเป็นพื้นฐานก่อน แล้วเพิ่มเข้าไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือการเป็นจังหวัดเศรษฐกิจ เช่น ภูเก็ต
จากข้อสั่งการของนายก จึงเกิดการประชุมการวางแผนกระจายวัคซีน และที่ประชุมสรุปได้ว่า หากจะเพิ่มความยืดหยุ่นของการปรับแผน แนวทางหนึ่งก็คือ การให้แต่ละจังหวัดมีระบบลงทะเบียนการฉีดวัคซีนของตนเอง จะบริหารจัดการตามโควต้าที่จัดสรรให้ง่ายกว่า หากยังใช้ระบบหมอพร้อมในการจองคิวทั่วประเทศ อาจทำให้ไม่สมดุลกับโควต้าของแต่ละจังหวัด (เพราะบางจังหวัดอาจมีการณรงค์หรือเกณฑ์คนไปลงให้ได้คิวและโควต้าเยอะ ๆ) จึงเป็นที่มาของข้อสรุปให้ "ชะลอ" หมอพร้อม คือยังไม่ต้องไปรณรงค์หรือออกคำสั่งให้ไปลงหมอพร้อมในช่วงนี้ อย่างน้อยก็ในจังหวัดที่มีระบบตัวเอง ให้ไปลงจองคิวกับจังหวัด
ส่วนจังหวัดใดไม่มีระบบตัวเอง ก็สามารถลงกับ อสม. หรือ รพ.สต. หรือรพ.ท้องถิ่นได้เลย (หรืออาจใช้ระบบหมอพร้อมต่อไป อันนี้ยังรอประกาศแนวทาง)
ส่วนประเด็นล่าสุด ที่หลายสื่อพาดหัวทำนองว่า "นายกสั่งเบรกหมอพร้อม" อันนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะ นายกไม่ได้สั่งครับ สั่งแค่ให้ปรับแผนวัคซีน ส่วนการ "ชะลอหมอพร้อม" นั้นเป็นแนวทางจากที่ประชุม ไม่ได้มาจากนายกโดยตรง ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
บางคนอาจจะถามว่า แล้ววันนี้โฆษก ศบค. พูดเองว่า นายกสั่งชะลอหมอพร้อม
ลองไปฟังเทปดูนะครับ ท่านโฆษก ไม่ได้พูดว่า "นายกสั่งชะลอหมอพร้อม" เลยครับ ท่านพูดว่า "ท่านเลขา สมช.... ได้รับการสั่งการจากนายก... ให้มีการประชุมปรึกษาหารือ มี 2 ประเด็นที่ท่านฝากมา" (ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการชะลอหมอพร้อม)
สื่อเข้าใจว่า คำว่า "ท่านฝากมา" คือ "ท่านนายก" แต่จริงๆคุณหมอทวีศิลป์หมายถึง "ท่านเลขา สมช." ผู้ที่เป็นประธานในที่ประชุม ศปก.ศบค. วันนี้ ซึ่งผมเป็นพยานได้ เพราะผมอยู่ในที่ประชุมครับ ท่านฝากข้อนี้มาจริงๆ
แล้วคำว่า "ชะลอ" ก็ไม่ได้หมายถึงยกเลิก หรือไม่ต้องใช้แล้ว เพียงแค่ชะลอการจองคิวฉีดออกไปก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในจังหวัดที่มีระบบของตัวเอง จังหวัดอื่นๆรอฟังประกาศของจังหวัดท่านที่ต้องรับดำเนินการตามแผน และออกนโยบายมาเร็วๆนี้ และหมอพร้อมเองก็ยังเป็นเหมือนการบันทึกการฉีดวัคซีนของแต่ละคน หรือผลข้างเคียง (หากมี) แจ้งนัดครั้งต่อไป และการออกใบรับรองวัคซีนถ้าต้องใช้ และไม่ว่าจะจองผ่านระบบอะไร สุดท้ายก็จะ sync กับระบบหมอพร้อมอยู่ดี
สรุป
บางท่านอาจจะเห็นว่ารัฐเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ถ้าอ่านและทำความเข้าใจ ก็อาจจะเห็นว่า
1.บางอย่างไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นการที่สื่อนำข้อมูลที่ยังไม่ final ไปเผยแพร่ (เช่นตัวเลขวัคซีนที่จะได้)
2.บางอย่างก็เปลี่ยนจริง แต่ยอมเปลี่ยน ยอมเสี่ยงโดนด่า เพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแล้วได้ประโยชน์มากกว่า (เช่นการเปิดให้ประชาชนทั่วไปฉีดก่อนคนแก่ ซึ่งหลายประเทศจะให้คนแก่ฉีดให้หมดก่อน และการชะลอหมอพร้อม ไปใช้ระบบของจังหวัด)
3.บางอย่างก็ไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่นการทดลอง Walk-In แล้วเห็นแล้วว่าไม่เวิร์คแน่ ก็ปรับเป็นการลงทะเบียนหน้างาน ซึ่งคอนเซ็ปต์เดิม แต่เพิ่มความเป็นระบบเข้าไป
4.นายกไม่ได้เป็นผู้สั่งเบรกหรือยกเลิกหมอพร้อม แต่เป็นแนวทางข้อสรุปจากที่ประชุมแผนวัคซีน
สุดท้ายนี้ ในฐานะฝ่ายสื่อสารคนหนึ่งของ ศบค. ผมยอมรับว่าการสื่อสารอาจจะมีความสับสนบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากพอสมควร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นร้อยเป็นพัน เกี่ยวกับคนหลายสิบล้านคน แต่เราก็พยายามทำกันอย่างดีที่สุด ไม่มีใครอยากให้เกิดความวุ่นวาย อาจเกิดความผิดพลาดบ้าง ต้องขออภัยหากทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสน เพราะเราไม่สามารถไปดูแลควบคุมทุกคนในทุกหน่วยงานได้
นอกจากนี้ส่วนตัวอยากขอขอบคุณทุกๆคน ทุกๆคอมเมนต์ที่แสดงความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งกำลังใจทั้งหมดที่ส่งมาให้ ทั้งหน้าไมค์หลังไมค์ ขอบคุณ #ทีมสื่อสารประเทศไทย ทุกคน ที่อาสาสื่อสารข้อมูลต่างๆออกไป บางคนก็เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าอวยรัฐ แต่ผมกดดูที่ท่านแชร์เสมอนะครับ และสิ่งเหล่านี้มีความหมายมาก ทำให้ผมและฝ่ายสื่อสารทุกคน (ที่ก็เป็นเหมือนแนวหน้าในการรับแรงปะทะเหมือนกัน และตอนนี้ผมก็เริ่มได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ) มีกำลังใจทำหน้าที่ต่อไปอย่างดีที่สุดครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง