คนกรุง สน ปัญหารถติด มากกว่าเลือกผู้ว่าฯ ใหม่

06 มิ.ย. 2564 | 08:25 น.

นิด้าโพล เผยคนส่วนใหญ่ยังไม่เคาะเลือกผู้ว่าฯกทม. แต่อยากให้เร่งแก้ปัญหารถติด ประชาชนกว่า 30% ระบุ ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ขณะที่ 23.84% เลือก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเป็นอันดับ 4

นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ครั้งที่ 3 โดยเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า อันดับ 1 ประชาชน 30.62% ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 2 ประชาชน 23.84% ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 3 ประชาชน 12.57% ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อันดับ 4 ประชาชน 10.59% ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

คนกรุง สน ปัญหารถติด มากกว่าเลือกผู้ว่าฯ ใหม่

อันดับ 5 ประชาชน 5.33% ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 6 ประชาชน 3.43% ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อันดับ 7 ประชาชน 2.82% ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 8 ประชาชน 2.05% ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 9 ประชาชน 1.75% ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับประชาชนที่บอกว่าจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อันดับ 10 ประชาชน 1.60% ระบุว่า ไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 2 เดือนเมษายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ, ผู้ที่ตัดสินใจเลือก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล, ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย, น.ส.รสนา โตสิตระกูล, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นายสกลธี ภัททิยกุล และจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงปัญหาที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เร่งแก้ไขมากที่สุด 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ระบุว่า ปัญหาการจราจร อันดับ 2 ระบุว่า ปัญหาสุขภาพ/สาธารณสุข อันดับ 3 ระบุว่า ปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง อันดับ 4 ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วม และอันดับ 5 ระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง น้ำเสีย

ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 64

ข่าวที่เกี่ยวข้อง