นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้คำแนะนำทางออกให้กับรัฐบาล หลังสถานการณ์กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานบันเทิง เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก กลุ่มผู้ประกอบการได้ใช้เงินเก็บในการพยุงธุรกิจให้รอดตัวมาได้ พอการแพร่ระบาดระลอก 2 และ 3 ทำให้เงินเก็บที่มีหายไป จนบางรายปิดกิจการเพราะคำว่า “ขอความร่วมมือ” จากรัฐบาล
ล่าสุดกับคำสั่ง “ห้ามนั่งกินในร้าน” แน่นอนว่า รายได้ของพวกเขาหายไป ถือว่ารอบนี้ผู้ประกอบการมีผลกระทบหนักสุด นอกจากรายได้หดหาย ยังมีภาระหนี้สิน แถมดอกเบี้ยก็ยังเดินต่อไป
นายปริญญ์ กล่าวว่า สถานการณ์หลังจากนี้จะยิ่งแย่ลง หากมาตรการให้ “ปิดร้านอาหาร” หรือ “ไม่ให้นั่งทานที่ร้าน” ยังคงอยู่ รัฐบาลควรมองว่าจุดไหนที่มีการแพร่ระบาดก็ให้ปิดเป็นแห่งๆ ไป รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเปิดให้ “นั่งทานที่ร้าน” ในรอบที่ผ่านมา มีคนติดจากร้านอาหารน้อยมาก ส่วนใหญ่มาจาก “แคมป์คนงาน” โรงงาน และตลาดสด
ฉะนั้น การที่รัฐบาลสั่งปิดทั้ง กทม.และอีก 6 จังหวัด ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบ “หว่านแห่” เกินไป เพราะผู้ประกอบการอีกหลายแสนคนต้องมาเดือดร้อนในจุดนี้ด้วย โดยที่ไม่มีเงินเยียวยาอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ เรื่องของการ “เยียวยาผู้ประกอบการ” ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงิน แต่ติดอยู่กับความคิดเรื่องของ “เพดานหนี้” ของกระทรวงการคลัง จริงๆ แล้วเพดานหนีสามารถเกิด 60% ได้ เพราะบางประเทศมีเพดานหนี้สูงถึง 200-300 % เพราะทั่วโลกเข้าใจถึงวิกฤติโควิดครั้งนี้ รัฐบาลไม่ต้องไปอายที่เพดานหนี้จะสูงขึ้น และควรต้องอธิบายให้คนเข้าใจ
อีกประเด็นที่สำคัญคือ กระทรวงการคลัง ควรต้องหารือกับ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในการหามาตรการช่วยอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพักหนี้พักดอก เพราะในเมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากประชาชนแล้ว ทำไมรัฐจะขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่ได้
“ท้ายที่สุดรัฐบาลจะทำอะไรต้องคำนึงถึงคนที่เจ็บตัวที่สุด เพราะการตัดสินใจมาจากนักการเมืองและแพทย์ ซึ่งคนเหล่านั้นไม่ได้มีผลกระทบ หรือ ลดเงินเดือน ฉะนั้น หากจะทำอะไร หรือ ตัดสินใจอะไร ต้องคำนึงถึงพวกเขาด้วย” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :