นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan วันนี้ (3 ก.ค.) ระบุถึงพัฒนาการของสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มจากสายพันธุ์เดิมเริ่มแรกคือสายพันธุ์อู่ฮั่น ระบาดในระลอกแรก ต่อมาเป็นสายพันธุ์ G ซึ่งติดได้ง่ายกว่าจึงพบว่าแพร่กระจายไปทั่วโลก และกลับมาระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครระลอกที่ 2 โดยเชื่อว่าน่าจะระบาดมาจากเมียนมา
สายพันธุ์แอลฟา หรือ สายพันธุ์อังกฤษ ติดได้ง่ายกว่า 1.7 เท่าของสายพันธุ์ G จึงเข้ามาระบาดและรอบที่ 3 ที่สถานบันเทิงทองหล่อ โดยเหมือนกับสายพันธุ์เขมร
ต่อมา สายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย เริ่มพบในคนงานก่อสร้าง ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์แอลฟาอยู่ 1.4 เท่า
สายพันธุ์เดลต้านี้ ติดได้ง่ายมาก ก็จะเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นเป็นโรค 4 บนยอดของการระบาดระลอก 3
ณ ขณะนี้ที่กรุงเทพฯ จากการศึกษาวิจัยของศูนย์กว่า 700 ตัวอย่าง ในเดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราส่วนในการพบสายพันธุ์เดลต้า สูงขึ้นเร็วมาก จนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลต้า ดังแสดงในรูปกราฟประกอบ
สายพันธุ์เดลต้าติดต่อได้ง่ายมาก ดังนั้น ในบางครั้งจะไม่รู้เลยว่ารับเชื้อมาจากที่ใด และการระบาดจะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมาก
การดูแลป้องกันลดการระบาดจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ในการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดระเบียบวินัย ใส่หน้ากากอนามัยตลอด ล้างมือใช้แอลกอฮอล์เป็นนิจ กำหนดระยะห่าง ลดจำนวนการรวมคน และต้องตระหนักเสมอว่า โอกาสที่จะติดโรคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าไม่จำเป็นอยู่บ้านจะดีที่สุด