รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า ผ่านมาครบ 7 วันแล้วสำหรับมาตรการล็อคดาวน์แบบจำกัดขอบเขต ผมถูกถามจากสื่อหลายแห่งว่าพอจะประเมินได้หรือยัง คำตอบคือยังไม่ได้ และขยายความเพิ่มเติมว่า สำหรับผมจะขอดูดัชนีชี้วัดหลักจากจำนวนรวมกันของผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจใน กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตในหกจังหวัดนี้เป็นดัชนีชี้วัดรอง ด้วยเหตุผล คือ สัดส่วนผู้ป่วยวิกฤตในผู้ป่วยรายใหม่จะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าตรวจในกลุ่มไหน
ถ้าเป็นการตรวจเชิงรุกในคนงาน จะพบผู้ป่วยสีเขียวราว 95-98% จึงมีโอกาสเกิดผู้ป่วยวิกฤตน้อยกว่าการตรวจเชิงรับในคนที่มาโรงพยาบาล ซึ่งพบผู้ป่วยสีเขียวราว 80-90% แต่ทั้งสองกลุ่มถ้าโรคลุกลามไปหลังจากเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว หรือลุกลามในระหว่างรอรับการตรวจวินิจฉัย หรือลุกลามหลังจากตรวจพบแล้วยังไม่ได้รับตัวเข้ารักษา สุดท้ายผู้ป่วยก็จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต เมื่อเข้าโรงพยาบาลก็มักจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยกเว้นรายที่เสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้นรูปกราฟที่แสดงตัวเลขย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. จนถึง 3 ก.ค. จึงต้องจับตาดูกันว่าจากวันที่ 4-11 ก.ค. จะมีทิศทางไปเป็นเช่นใด จะต้องล็อคดาวน์กันเพิ่มอีกไหมหรือเท่านี้ก็พอแล้ว
หมอนิธิพัฒน์ ให้ข้อมูลอีกว่า ถึงตรงนี้สถานการณ์เตียงรับผู้ป่วยในทุกระดับความรุนแรงใน กทม.และปริมณฑลยังติดขัดกันอยู่มาก ผู้ป่วยตกค้างในชุมชนเริ่มสะสมมากขึ้น นอกจากการพยายามเพิ่มเตียงแล้ว การมีระบบคัดเลือกผู้ป่วยรอเตียงที่เป็นสีเหลืองหรือเป็นสีเขียวที่แย่ลงเพื่อรีบนำเข้าโรงพยาบาล จะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีระบบติดตามผู้ป่วยในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องดึงศักยภาพของคนในชุมชนมาร่วมกันดูแล สำหรับในโรงพยาบาลหลักเองก็พยายามขยายเตียงทุกรูปแบบ ตัวอย่างเช่นการให้ผู้ป่วยอยู่รวมกันสามคนในห้องที่ปกติอยู่ได้หนึ่งคน ซึ่งมักจัดให้เป็นครอบครัวเดียวกัน หรือรู้จักกัน หรือยินยอมที่จะอยู่ด้วยกัน โดยเราจะขอร้องคนที่แข็งแรงกว่าให้ช่วยดูแลคนที่อ่อนแอกว่า มิตรภาพดีๆ น้ำใจงามๆ มีให้เห็นทั้งในรพ.สนาม ฮอสปิเตล หรือในรพ.หลักก็ตาม
สถานการณ์ในต่างจังหวัดหลายที่เริ่มตึงมือ ทั้งจากกลุ่มก้อนที่ประทุขึ้นเองภายใน หรือสะเก็ดไฟที่ลามไปจากหกจังหวัดอันตรายข้างต้นรวมชลบุรีด้วย การเร่งสร้างรพ.สนามดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนมาว่าหาความร่วมมือจากเหล่าทหารสีเขียวในเรื่องสถานที่จัดตั้งรพ.สนามได้ยากเต็มที ไม่เหมือนเหล่าทหารสีกากีแถบภาคตะวันออกที่ร่วมรบกับโควิดเคียงบ่าเคียงไหล่หมอและพยาบาลมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปีนี้ ข้อบ่ายเบี่ยงมีการชักแม่น้ำทั้งห้าต่างๆ นาๆ ล้วนฟังดูไม่ค่อยมีน้ำหนักในสายตาบุคลากรสายแพทย์ที่บากหน้าไปขอความช่วยเหลือ ทั้งที่ส่วนหัวประกาศปาวๆ ว่ากองทัพสนับสนุนเต็มที่ในมาตรการรับมือโควิด งานนี้แทนที่จะได้คะแนนสงสารเพื่อไปเสริมความชอบธรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ กลับจะได้ผลสะท้อนด้านกลับที่ทำให้ภาพพจน์ติดลบไปกว่าเดิมอีกเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 5 กรกฏคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ติดเชื้อเพิ่ม 6,166 ราย
สะสมระลอกที่สาม 260,370 ราย
สะสมทั้งหมด 289,233 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 2,534 ราย
สะสม 196,011 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 50 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2,182 ราย
สะสมทั้งหมด 2,276 ราย