5 ก.ค. 2564 - แฮชแท็ก #ขอไฟเซอร์ให้หมอ กลายเป็นกระแสร้อนแรง ในโซเซียลมีเดีย เพียงชั่วข้ามคืน หลังวานนี้ ปรากฎเอกสาร บันทึกการประชุมไฟเซอร์ ของการพิจารณาร่วมเฉพาะกิจ ระหว่าง คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา
โดยบันทึกการประชุมดังกล่าว ( สื่อมวลชน อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มา และ ข้อเท็จจริง-เท็จที่ปรากฎ ) ได้สรุป แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่คาดว่าจะมาถึงประเทศไทยเดือนกรกฎาคมนี้ และในระยะไตรมาส 4 อีก 20 ล้านโดส ภายใต้โจทย์จัดสรร 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่...
1. บุคคลอายุ 12-18 ปี
2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน (ผู้สูงอายุ/โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์)
3. บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3
ซึ่งท้ายที่สุด ที่ประชุมมี มติจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ให้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง กทม. และปริมณฑล เป็นลำดับแรก
อย่างไรก็ตาม กลับปรากฎข้อความ ความคิดเห็นของ 1 ใน ผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ซึ่งระบุว่า หากมีการนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีด เป็นโดสกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้น เท่ากับเป็นการยอมรับ ว่า วัคซีนซิโนแวค ที่ระดมฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ทั้งหมดก่อนหน้านี้ ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน และจะแก้ตัวได้ยากขึ้น
ข้อความดังกล่าว ถูกพูดถึงอย่างมาก ท่ามกลางข้อเรียกร้องของสังคม ขอจัดสรร วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งขณะนี้เป็นวัคซีนได้รับการยอมรับ ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด19 สายพันธุ์เดลต้า ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ให้กับบุคลากรด่านหน้า เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นหลักก่อน เนื่องจากพบการติดเชิ้อให้กลุ่มคนด่านหน้าเพิ่มมากขึ้น
ขณะล่าสุด ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา และ อดีตนายกแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กบัญชี ' อำนาจ กุสลานันท์ ' เรียกร้อง ถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ว่า.....
ตามที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ในเดือนกค.-สค. 64 มานั้น ผมทราบมาว่ามติที่ประชุมของคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 มิย.64 ได้มีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้วัคซีนซิโนแวคสองเข็มไปแล้วระยะหนึ่งได้รับวัคซีนนี้ แต่ต่อมาที่ประชุมมีมติไม่ให้วัคซีนดังกล่าวแก่บุคลากรทางการแพทย์
ผมมีความเห็นว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับเชื้อรวมทั้งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญสูงมากในขณะนี้ที่มีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด
ถ้าหากกำลังคนที่สำคัญในภาวะวิกฤตินี้ติดเชื้อจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
เพราะการที่คนใดคนหนึ่งในกลุ่มบุคลากรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อชดเชยอัตรากำลังคนที่ขาดแคลนอย่างที่สุดในตอนนี้ติดเชื้อจะทำให้มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องถูกกักตัวเนื่องจากเป็นผู้ความเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก ดังที่ได้มีการประกาศปิดห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หรือทั้งโรงพยาบาลมาเป็นระยะ ๆทำให้ผู้ป่วยและประชาชน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกทั้งจากโควิดและภาวะฉุกเฉินอื่นๆ
ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อในบุคลกรกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญสูงสุดและจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วยครับ
เช่นเดียวกับข้อความโพสต์ ของ นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ระบุ ในหัวข้อ "ขอสนับสนุนให้วัคซีนเข็ม 3 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า" โดยมีใจความสำคัญ .....
ตามที่มีการประชุมเรื่องการพิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ ที่จะได้รับ 1.5 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ในกลุ่มบุคคลใดบ้าง #โดยมีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้า ที่ได้รับ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว ควรได้รับเพิ่ม ในการประชุม คณะกรรมการด้านวิชาการวัคซีน กรมควบคุมโรค ที่ผ่านมานั้น
ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ในด่านหน้าเสมือนเป็นทหารอาสาสู้ศึก covid-19 ที่ต้องเสียสละตนเอง โดยมีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา ย่อมถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด กว่ากลุ่มใดๆ
ในการออกรบจำเป็นต้องได้รับ"เกราะป้องกันที่ดีที่สุด" เพื่อให้เขาสามารถ "อยู่รอด" ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เชื้อระบาดอย่างรุนแรงวิกฤต จนจำนวนบุคลากร ไม่เพียงพอ อยู่แล้ว
การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ คนหนึ่งไม่เพียงทำให้เขาหยุดงาน แต่กลายเป็นภาระของผู้ร่วมงานที่ต้องปฏิบัติงานแทน ขึ้นเวรแทน ทำงานมากขึ้น
ในขณะที่หลายแห่งเพิ่มเตียงในตึกคนไข้ เพิ่มหน้าที่ไปดูแลโรงพยาบาลสนาม และเพิ่มไปออกหน่วยฉีดวัคซีน ตามที่ทุกท่านทราบดี ซึ่งทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อยเต็มกำลังและล้ามากแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายโรงพยาบาล วิกฤตจนต้องปิดหน่วยบริการ ปิด opd ปิดตึกผู้ป่วย ปิดห้องผ่าตัด ปิดห้องฉุกเฉิน กระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง ทั้งที่ป่วยเป็น covid และไม่ใช่ covid ไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ ส่วนหนึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตอย่าน่าเสียดาย
ในสภาวะปัจจุบันที่ผู้ป่วยจำนวนมากยังรอการรักษาพยาบาล รอเตียงที่บ้าน จน ภาครัฐต้องขยายโรงพยาบาลสนาม และ เตียงใน รพ.เพิ่มเติม ไม่หยุดหย่อน ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มขึ้น ทั้งสิ้น
ในสงครามครั้งนี้ เราจะสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์อีกไม่ได้แล้ว ขอให้ผู้เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาเพิ่มเกราะอย่างดี ให้กับนักรบเสื้อขาว โดย สนับสนุนให้จัดวัคซีนไฟเซอร์ ตามที่ประชุมส่วนหนึ่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้า เพื่อให้เขาไปดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ด้วยครับ โปรดอย่าค้านเลยครับ
และขอเพิ่มวัคซีนคุณภาพสูง ที่จะปกป้องพวกเขาทุกคน จากเชื้อที่กลายพันธุ์ ที่จะระบาดในระยะต่อไป โดยเฉพาะกลุ่ม mRNA ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมอย่างด่วนด้วยครับ
เพราะบุคลากรทุกคนคือกำลังสำคัญในการ ต่อสู้กับ covid-19 ครั้งนี้ หากไม่มีกำลังพวกเขา ชีวิตของประชาชนจะเข้าสู่ความเสี่ยงอันตรายอย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตจากสงครามโควิด ที่มีการสูญเสียชีวิตทุกวัน
ขณะที่ ยอดโควิดวันนี้ 5 ก.ค.64 มี ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6,166 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 50 คน หายป่วยเพิ่ม 2,534 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 260,370 ราย