ฉีดวัคซีน "Sinovac" ครบ 2 เข็มภูมิสูง 89% ลูกชาย"หมอรามา"ติดโควิดตามแม่

06 ก.ค. 2564 | 02:53 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 14:37 น.

หมอรามาเผยลูกชายฉีดวัคซีน Sinovacครบ 2 เข็มตรวจพบภูมิสูง 89% ติดเชื้อโควิด-19 ระบุเชื้อตายแบบเดิมป้องกันได้เฉพาะไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิมแต่ไม่สามารถจัดการสายพันธุ์เดลตาได้

รายงานข่าวระบุว่า รศ.พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Prapaporn Pisitkun)โดยมีข้อความระบุว่า 
เห็นข่าวการที่ไม่อยากให้บุคลากรการแพทย์ฉีดวัคซีนเข็มสามเพราะกลัวเสียหน้าว่า Sinovac ไม่ดี ฟังดูแล้วรู้สึกว่าถ้าแพทย์ส่วนใหญ่ใช้ตรรกะแบบนี้ดูแลผู้ป่วยอะไรจะเกิดขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆให้เห็นคือ เวลามีผู้ป่วยติดเชื้อแล้วแพทย์สั่งยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่งแล้วเฝ้าดูอาการคนไข้จะมีทางออกได้สองทางคือ
1. คนไข้อาการดีขึ้น ผลเพาะเชื้อไวกับยาที่ให้ ให้ยาครบ หายกลับบ้าน
หรือ 2. คนไข้ไม่ดีขึ้น ผลออกมาเป็นเชื้อดื้อยา ตามหลักการคือแพทย์จะเปลี่ยนยาที่ไวกับเชื้อและสามารถฆ่าเชื้อได้ และติดตามอาการผู้ป่วย แพทย์จะติดตามและเฝ้าระวังอาการเป็น real time ถ้ามีอาการผิดปกติอะไรก็จะปรับเปลี่ยนการรักษาเพื่อช่วยชีวิตคนไข้  
ในทางการแพทย์เราทราบกันดีว่าไม่มีอะไร 100 % เราตัดสินใจหน้างานให้ดีที่สุด ถ้าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าควรจะรักษาอย่างไร แต่คนไข้แย่มากๆอยู่ตรงหน้าเราคงต้องตัดสินใจทำอะไรให้ดีที่สุดแล้วติดตามอาการผู้ป่วย (ไม่มีข้อมูลว่าจะให้ยาอะไรจากงานวิจัย ก็ไม่ได้หมายความว่ารักษาไม่ได้ จริงๆแล้วเราควรทำวิจัยแล้วเก็บข้อมูลเพื่อจะได้มีข้อมูลซะที)
จริงๆแล้วถ้าใช้วิทยาศาสตร์อธิบายจะไม่มีคำว่าเสียหน้า

วันนี้เลยจะมาเล่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของการติดเชื้อในครอบครัวของหมอโดยพบว่า ลูกชายฉีด Sinovac ติดเชื้อ  สามีฉีด Astra ยังไม่ติดเชื้อและไม่มีอาการ คุณปู่คุณย่า ฉีด Astra ยังไม่ติดเชื้อ ไม่มีอาการ

ผลตรวจภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้เนื่องจากเป็นครอบครัวของนักวิจัยระบบภูมิคุ้มกัน หมอจึงให้เจาะ Neutralizing antibody เช่นกัน และในวันเดียวกันที่หมอรับเชื้อแล้วผล Neutralizing antibody ของลูกชายอยู่ที่ 89% (Post 2nd dose of Sinovac 3 สัปดาห์) และตรวจ COVID เจอที่ Ct 30 และ Neutralizing antibody ของสามีหมออยู่ที่ 98.95% ค่ะ ตรวจไม่พบเชื้อมา 2 ครั้งและไม่มีอาการ
ข้อมูลนี้บอกอะไรเรา บอกว่าเราอาจต้องการ Neutralizing antibody ที่สูงมากๆ ถ้าใช้วัคซีนที่ใช้สายพันธุ์ Wuhan (อู่ฮั่น) เป็นต้นแบบ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ Delta Strain (อาจต้องมากกว่า 90% ถึงจะเอาสายพันธุ์ Delta หรืออิเดียอยู่หรือเปล่า)
หมอประภาพร ยังระบุต่อไปอีกว่า แต่ถ้าใช้วิทยาศาสตร์อธิบายก็จะเข้าใจได้ง่าย 
วัคซีน Sinovac รุ่นแรกทำจากสายพันธุ์ Wuhan ที่ระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว ดังนั้นก็สามารถป้องกันสายพันธุ์ Wuhan ได้ดี แต่การระบาดในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ Delta  ซึ่งการกลายพันธุ์นี้ได้ล้ำหน้าไปมาก
สายพันธุ์นี้สามารถเข้าเซลล์ของมนุษย์ได้ดีมากๆ ดังนั้นจึงต้องการระดับ Neutralizing antibody ที่สูง มากๆเพื่อยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าเซลล์ 
ดังนั้นการใช้ Sinovac version 1.0 (original) นั้นจะไม่สามารถจัดการ delta mutant ตัวนี้ได้ดี (วงการคอมพิวเตอร์ถึงต้องมีหลาย software หรือมี upgraded version) 
นอกเหนือจากชนิดของเชื้อตายที่นำมาทำ vaccine แล้ว ประเภทของวัคซีนที่แตกต่างกัน (ต่างเทคโนโลยี) ก็กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากน้อยต่างกัน (อันนี้จะเป็น immunology hardcore ไปหน่อย จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้)

สำหรับคำเรียกร้องจากบุคลากรด่านหน้าว่าให้ Boost เข็มสามให้นั้นไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่อย่างใด แต่เพื่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ 
สำหรับหมอประภาพร นั้น เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19)ชนิดซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วติดเชื้อโควิด-19 โดยที่หมอประภาพร กล้าที่จะนำประสบการณ์การติดเชื้ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ โดยหมอประภาพร ระบุว่า 
ฉีดวัคซีน Sinovac ครบที่ 2 สัปดาห์ ตัวเอง ก็ได้ตรวจระดับ NAb ซึ่งก็สูงถึง 92.9% แต่พอติดตามไปหลังฉีดวัคซีนครบที่ 2 เดือน ค่า NAb ลดลงมาเหลือ 65.7%  และในช่วงที่ค่า NAb 65.7% ก็เป็นช่วงที่ตรวจ COVID-19 detected ที่ Ct 18

โดยคาดว่าการติดเชื้อนี้ได้มาจากการ Contact positive case ในห้องแล๊ป เย็น อากาศปิด นานประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่ตัวเองใส่ N95 ค่ะ ใช่ค่ะ N95 (แต่ no Faceshield) และก่อนหน้าที่จะเข้าไปใช้ห้องแล๊ปนี้มีคนที่มาใช้เครื่องมือที่มีอาการไอค่อนข้างมากอยู่ก่อน และจากการได้รับอาหารมาจากเคสที่บวกเหมือนกัน แล้วไปแยกนั่งกินกันคนละห้องกัน ข้อสำคัญคือเคสที่บวกด้วยกันก็ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็มเรียบร้อยและเช็ค NAb อยู่ที่ 60.04% 
พร้อมสรุปชัดเจนว่า Sinovac ไม่กันติดเชื้อ confirmed กับ real world data อื่นๆทั้งในและนอกประเทศ