สรุปประเทศไทยในตอนนี้มีวัคซีนโควิด-19 จำนวน 3 ยี่ห้อที่จัดสรรฉีดให้ประชาชนฟรี ซึ่ง"ฐานเศรษฐกิจ"ได้รวบรวมข้อมูลมีวัคซีนยี่ห้ออะไรบ้างที่ฉีดฟรี และแบบไหนที่ต้องจ่ายเงินเอง
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ฉีดฟรี รัฐบาลจัดสรรให้ ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 64
วัคซีนซิโนแวค /โคโรนาแวค (CoronaVac)ฉีดฟรี รัฐบาลจัดสรรให้ ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64
วัคซีนไฟเซอร์ (COMIRNATY VACCINE) ฉีดฟรี รัฐบาลจัดสรรให้ ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64
วัคซีนโมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) เข็มละ 1,500-1,650 บาท ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 13 พ.ค.64
วัคซีนซิโนฟาร์ม(Covid-19 Vaccine (Vero cell ),Inactivated COVILO (BIBP) เข็มละ 888 บาท ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 64
วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Covid-19 Vaccine Janssen) ยังไม่มีข้อมูลประมาณการราคา ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 25 มี.ค.64
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 10.9 ล้านโดส (Sinovac) กรอบวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท โดยจะจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีอื่นและสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สูงกว่าควบคู่ไปด้วยในจำนวนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 10.9 ล้านโดส
เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน ตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในส่วนที่เหลือเพื่อให้สามารถจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ครบ 150 ล้านโดส ภายในไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2565
รูปแบบโครงการฯ เป็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่บุคลากรและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่
1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2) ประชาชนที่มีโรคประจำตัวตามที่กำหนด
3) ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด -19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม)
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กำหนดจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในเดือนกรกรกฎาคม จำนวน 3,894.8000 ล้านบาทและเดือนสิงหาคม จำนวน 2,169.9600 ล้านบาท โดยมีค่าบริการจัดการวัคซีนโควิด-19 และในส่วนที่เกี่ยวข้องอีก 46.6520 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,111.4120 ล้านบาท
“สำหรับวัคซีนจากบริษัท Sinovac จำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล สร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย/เสียชีวิต รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย” นายอนุชา ฯ กล่าว
ขณะที่จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 5 ก.ค. 2564)
รวม 11,058,390 โดส ใน 77 จังหวัด
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 8,022,029 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 3,036,361 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)
ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 รวม 6,957,869 โดส
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 5,251,782 ราย
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม 1,706,087 ราย