ทส. เผยผลตรวจคุณภาพอากาศรอบพื้นที่ไฟไหม้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

06 ก.ค. 2564 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 17:32 น.

ทส. มอบหมาย กรมควบคุมมลพิษ เฝ้าระวังตรวจสอบมลพิษจากสารเคมีที่อาจส่งผลต่อประชาชน จากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ระบุ ขณะนี้จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบพื้นที่ ผลอยู่ในเกณฑ์ดี

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโรงงานถูกเพลิงไหม้พังถล่มเสียหายทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังร่วมในการระงับเหตุอย่างต่อเนื่อง และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ได้มอบหมาย คพ. ร่วมกับหน่วยงานใน ทส. ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว   

คพ. วางแผนในการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้ และล่าสุดวันนี้ (6 กรกฏาคม 2564) จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ จำนวน 5 สถานี หน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ 1 หน่วย ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 5 กิโลเมตร โดยได้ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) พบว่า ผลการตรวจคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก 


พร้อมกันนี้ ได้มีการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (Total VOCs) ด้วยเครื่องมือแบบเคลื่อนที่ (Portable) บริเวณรั้วโรงงาน บริเวณด้านหน้าโรงงานห่างออกมา 5 เมตร และ 50 เมตร พบว่าในรัศมีที่ห่างออกไปค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายจะน้อยลงและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้นสำคุณภาพอากาศโดยรวมกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และแอปพลิเคชัน Air4Thai

ทส. เผยผลตรวจคุณภาพอากาศรอบพื้นที่ไฟไหม้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ คพ. ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำแหล่งน้ำและคลองโดยรอบที่เกิดเหตุ จำนวน 7 จุด ได้แก่ คลองชวดลาดข้าว จำนวน 2 จุด ด้านฝั่งตะวันออกของโรงงานเกิดเหตุ จุดปากท่อน้ำเสียที่ไหลลงคลองชวดลาดข้าว 1 จุด คลองูอาจารย์พร จำนวน 1 จุด ด้านเหนือโรงงานเกิดเหตุ ปากท่อน้ำเสียไหลลงคลองอาจารย์พร 1 จุด บึงน้ำด้านตะวันตกของโรงงานเกิดเหตุ 1 จุด และ บริเวณรางน้ำหน้าโรงงานเกิดเหตุ 1 จุด  ทั้งนี้ เก็บตัวอย่างน้ำส่งห้องปฏิบัติการกรมควบคุมมวลพิษ ตรวจวิเคราะห์ หาสาร สไตรีน (Styrene)  ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และ น้ำมันและไขมัน(Grease and Oil) 
 

ทั้งนี้  คพ. จะเฝ้าระวังมลพิษจากสารเคมีที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการแจ้งเตือน หากพบว่ามีค่ามลพิษสูงเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ 

ทส. เผยผลตรวจคุณภาพอากาศรอบพื้นที่ไฟไหม้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี