รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
การควบคุมโรคระบาดอาศัยทั้ง ความร่วมมือของประชาชนในการรักษาวินัยการคัดกรองอย่างเข้มข้นเป็นระยะสม่ำเสมอเข้าถึงได้ทุกคนและวัคซีน
จีนใช้ซิโนแวค (Sinovac) แต่ที่คุมได้เป็นเพราะมีการตรวจคัดกรองทุกคนเป็นระยะสม่ำเสมอทำให้สามารถแยกตัวคนที่ปล่อยเชื้อออกไปได้ และทันทีที่พบการติดเชื้อจะมีการตรวจอย่างเข้มข้นหลาย ล้านคนภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ดังนั้นวัคซีนจะปฎิบัติตัวเป็นตัวช่วยทำให้อาการไม่มากแม้ติดเชื้อ และแม้ว่าจะป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่าวัคซีนอื่นแต่การคัดกรองดีเยี่ยมทำให้ชดเชยประเด็นนี้ไป พร้อมกับมีการปฏิบัติตามคำสั่งทางการอย่างเคร่งครัด
เช่นกันประเทศที่ใช้วัคซีนที่ถือว่าดีและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เช่นไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) แต่ถ้าเริ่มไม่มีวินัยและมีไวรัสที่ดื้อวัคซีน การระบาดก็จะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ วนเวียนอยู่ตามเดิมแม้ว่าการระบาดจะไม่รุนแรงเท่าเก่า
แต่ในที่สุด วัคซีนเองจะพัฒนาจนถึงขีดที่ ครอบคลุมได้กว้างขวางมากขึ้นและหวังว่าจะสามารถสยบไวรัสจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป
ขึ้นอยู่กับว่าตามรายทางกว่าจะถึงจุดนั้น “เราสูญเสียไปมากเพียงใด” และ”พิสูจน์ให้เห็นอะไรได้มากมาย” ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้ ในเรื่องวัคซีน ในเรื่องการการคัดกรอง และเรื่องอื่นๆ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 6,519 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,464 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 55 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 272,309 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,148 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 203,745 ราย