วันที่ 7 ก.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความแห่งชาติ(สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงกรณีที่ครม.ได้มีการอนุมัติจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวกยังมีประสิทธิภาพ และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะได้รับมอบเข้ามาก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ขณะที่วัคซีนยี่ห้ออื่นยังไม่สามารถจัดหาเข้ามาได้ในช่วงเวลานี้
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่เข้ามาจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อนหรือไม่นั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่หน้างาน และสิ่งสำคัญ คือ วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกที่ได้มาเป็นวัคซีนที่บริจาคก็ต้องแบ่งสัดส่วนไปให้คนต่างชาติตามที่ผู้มอบได้ระบุไว้ด้วย เพราะหากฉีดคนไทยทั้งหมดอาจกระทบกับความรู้สึกของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือมีครอบครัวในประเทศไทย
พล.อ.ณัฐพล ยังกล่าวถึงกรณี กลุ่มหมอไม่ทน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ให้พิจารณาจัดหาวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลักให้ประชาชน ว่า ต้องรับฟังและให้ความสำคัญ เพราะทุกคนในหน้างานมีความเหนื่อยล้า มีความเสี่ยง จะมองแค่หลักวิชาการทางการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ โดยทั้งหมดต้องเป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าไม่มีอุปสรรควัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามาในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. นี้ จะพิจารณาจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ตามความจำเป็น มีความเหมาะสม และความสมัครใจ
พร้อมรับพิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์
พล.อ.ณัฐพล กล่าถึงถึงข้อเสนอล็อกดาวน์ว่า ทางศบค.พร้อมรับพิจารณาข้อเสนอกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างการรอข้อมูลทางการจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวในระดับสูง
"รอข้อเสนอเป็นทางการ รับพิจารณาอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่า ศบค.บริหารสถานการณ์ต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขเป็นอันดับแรก และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็รับฟัง เพราะตัวเลขยังทรงอยู่ก็คงรับพิจารณาในเรื่องนี้ แต่จะขนาดไหนว่ากันอีกทีหนึ่ง"พล.อ.ณัฐพล กล่าว
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ขอให้ทุกคนเข้าใจในคำว่าล็อกดาวน์ที่เคยนำมาใช้จริง คือ เมื่อเดือน เม.ย.63 แต่หลังจากนั้นใช้มาตรการปิดบางพื้นที่และบางกิจการ/กิจกรรม จำกัดการเคลื่อนย้าย โดยหากนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้คงจะเน้นในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก เช่น กทม.และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พื้นที่อื่นๆ ก็ต้องมีมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน แต่อาจใช้ความหนักเบาของมาตรการลดหลั่นไปตามลำดับ
ทั้งนี้ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทาง ศบค.อาจจะประชุมเร็วขึ้นก่อนกำหนดเดิมที่จะครบ 14 วันหลังจากใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์วันที่ 12 ก.ค. แต่หากตัวเลขยังขึ้นๆลงๆแบบนี้ก็คงต้องรอประเมินจนครบเวลา 15 วันเพื่อให้เกิดความครบถ้วน ระหว่างนี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะไม่นั่งรอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ได้เร่งหามาตรการแก้ไขสถานการณ์ เช่น การควบคุมการเคลื่อนย้าย การรักษาพยาบาล การจัดหาเตียงเพิ่มเติม เป็นต้น