"สายพันธุ์เดลตา"ครองแชมป์ใน กทม. หมอเฉลิมชัยชี้คุมระบาดต้องเข้าใจไวรัส

07 ก.ค. 2564 | 02:58 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 17:11 น.

หมอเฉลิมชัยเผยไวรัสสายพันธุ์เดลตาครองแชมป์ติดเชื้อในพื้นที่ กทม. กว่า 52% ชี้จะคุมการระบาดต้องเข้าใจธรรมชาติของเชื้อ ระบุการระดมฉีดวัคซีน จึงต้องอยู่บนพื้นฐานวิชาการ

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไวรัสสายพันธุ์เดลตา (Delta) ครองแชมป์ในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว ผู้ติดเชื้อรายใหม่พบมากถึง 52% จากที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งกระทบทั้งเรื่องการดื้อต่อวัคซีน และการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวางขึ้น
เมื่อกล่าวเฉพาะประเด็นความสามารถของไวรัสในการแพร่ระบาดที่กว้างขวางขึ้น จะสามารถเรียงลำดับความสามารถมากน้อยเฉพาะในกลุ่มไวรัสที่น่าเป็นห่วง (VOC) ได้ดังนี้
1.สายพันธุ์ Delta หรืออินเดียแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว้างขวางที่สุด
2.สายพันธุ์ Gamma หรือบราซิล
3.สายพันธุ์ Alpha หรือ อังกฤษ
4.สายพันธุ์ Beta หรือ แอฟริกาใต้
ทั่วโลกจึงให้ความสนใจกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามากเป็นพิเศษ และพบว่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่มีการเริ่มแพร่ระบาดที่ประเทศอินเดีย ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้แพร่ไปแล้วกว่าครึ่งโลก มากถึง 96 ประเทศ ในประเทศอังกฤษและอิสราเอล พบไวรัสสายพันธุ์เดลต้า กลายเป็นสายพันธุ์หลัก เบียดสายพันธุ์เดิมไปเรียบร้อยแล้ว และรายงานจากประเทศอิสราเอล ซึ่งมีผู้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม มากถึง 57% พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนที่จะต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ลดลงจาก 94% เหลือเพียง 64%
ทำให้นานาประเทศ ต้องหันมาสนใจและติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสเดลต้ากันอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า นอกจากจะแพร่ระบาดเร็วแล้ว ยังทำให้มีอาการที่รุนแรงลงปอด จนปอดอักเสบต้องใช้ออกซิเจนเร็วขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว จากเดิม ผู้ติดเชื้อมักจะมีอาการต้องใช้ออกซิเจน หลังจากติดเชื้อแล้ว 7-10 วัน เมื่อเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้า จะใช้เวลาเพียง 3-5 วัน จึงทำให้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาล เข้าไอซียู และใช้เครื่องช่วยหายใจมีเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลล่าสุดของประเทศไทย มาจากการตรวจหาสารพันธุกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งสุ่มตรวจตามมาตรฐานสากลที่องค์การอนามัยโลกกำหนดพบว่าในช่วง 28 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม 2564 จากจำนวนตัวอย่าง 2238 ตัวอย่างภาพรวมของประเทศไทยพบไวรัสสายพันธุ์ต่างๆในผู้ติดเชื้อใหม่ดังนี้
1.อัลฟ่า 65.1% 
2.เดลต้า 32.2% 
3.เบต้า 2.6%
แต่ถ้าดูเฉพาะเขตกรุงเทพและปริมณฑล (936 ตัวอย่าง)
1.เดลต้า 52% 
2.อัลฟ่า 47.8% 
3.เบต้า 0.2%
ในภูมิภาคต่างจังหวัด (1302 ตัวอย่าง)
1.อัลฟ่า 77.6% 
2.เดลต้า 18.0% 
3.เบต้า 4.4%
และถ้าดูแนวโน้มการเพิ่ม จะเห็นการเพิ่มของเดลต้ารวดเร็วมากโดยตัวเลขสัปดาห์ต่อสัปดาห์พบว่า ในระดับประเทศเพิ่มขึ้นจาก 10.4% เป็น 16.6% และ 32.2% 

\"สายพันธุ์เดลตา\"ครองแชมป์ใน กทม. หมอเฉลิมชัยชี้คุมระบาดต้องเข้าใจไวรัส
ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มจาก 22.5% เป็น 32.4% และ 52.0% 

\"สายพันธุ์เดลตา\"ครองแชมป์ใน กทม. หมอเฉลิมชัยชี้คุมระบาดต้องเข้าใจไวรัส
ส่วนในภูมิภาคต่างจังหวัดเพิ่มจาก 4.1% เป็น 7.3% และ 18.0% 

\"สายพันธุ์เดลตา\"ครองแชมป์ใน กทม. หมอเฉลิมชัยชี้คุมระบาดต้องเข้าใจไวรัส

ไวรัสเดลต้า จึงได้รับการคาดการณ์ว่า จะเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักของโลกมนุษย์เราในเวลาอีกไม่เกินสองถึงสามเดือนข้างหน้า และแนวโน้มของประเทศไทยก็จะเป็นอย่างนั้นด้วยเช่นกัน
การควบคุมการระบาดของโรคระลอกที่สาม จึงจำเป็นจะต้องเข้าใจธรรมชาติของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าด้วย มาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาล็อกดาวน์ การประกาศเคอร์ฟิว ตลอดจนการระดมฉีดวัคซีน จึงต้องอยู่บนพื้นฐานวิชาการ เข้าใจลักษณะเฉพาะของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์หลักในระลอกที่หนึ่งและสองเป็นอย่างมาก
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 6519 ราย
สะสมระลอกที่สาม 272,309 ราย
สะสมทั้งหมด 301,172 ราย
ออกจากโรงพยาบาล 4148 ราย
สะสม 203,745 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2293 ราย
สะสมทั้งหมด 2387 ราย