ติดเชื้อโควิดยังพุ่ง "หมอเฉลิมชัย" แนะล็อกดาวน์พื้นที่ระบาดหนัก

07 ก.ค. 2564 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2564 | 12:32 น.

หมอเฉลิมชัยเสนอยกมาตรการให้เข้มข้นขึ้นอย่างจริงจังให้เร็วที่สุด แนะการประกาศให้ทำงานจากบ้าน 100% การประกาศเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา ล็อกดาวน์เขตจังหวัดที่มีการระบาด และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
7 กรกฎาคม 2564 ติดเชื้อเพิ่ม 6519 ราย สะสมระลอกที่สาม 272,309 ราย สะสมทั้งหมด 301,172 ราย เสียชีวิต 54 ราย สะสมระลอกที่สาม 2293 ราย
สถานการณ์โควิดระลอกที่สาม ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 1 เมษายน 2564 จนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลา 98 วัน ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้เสียชีวิต ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้ได้มีการประกาศยกมาตรการเข้มข้นขึ้นในเขตกรุงเทพปริมณฑล 6 จังหวัด และ 4 จังหวัดภาคใต้แล้วเป็นเวลา 10 วัน การรอให้ครบ 14 วัน หลังใช้มาตรการดังกล่าว จึงอาจเป็นการรอที่ไม่มีประโยชน์คุ้มค่า มีแต่ผลกระทบทางด้านลบเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และยังไม่เห็นแนวโน้มที่มาตรการเข้มข้นที่ประกาศออกมาแล้ว จะทำให้สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลงได้
หมอเฉลิมชัย ระบุต่อไปว่า น่าจะพิจารณายกมาตรการให้เข้มข้นขึ้นอย่างจริงจังให้เร็วที่สุด เช่น การประกาศให้ทำงานจากบ้าน 100% การประกาศเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา การประกาศล็อกดาวน์เขตจังหวัดที่มีการระบาด และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง โดยภาครัฐต้องออกแบบวางระบบ และทำการประกาศให้ประชาชนรับทราบ ถึงมาตรการรองรับผลกระทบ เพื่อเยียวยาให้ประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้รับผลกระทบทางลบ ไม่มากก็น้อย แตกต่างกันไป เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ในระหว่างที่มาตรการดังกล่าวกำลังทำงานเพื่อให้เกิดผลดีในท้ายที่สุดคือ การลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อ อันจะนำมาสู่การกลับมาดำเนินการของมิติเศรษฐกิจและสังคมได้ในภายหลัง
ทั้งนี้เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลาย ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต ซึ่งจะไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้

ก่อนเกิดการระบาดระลอกสาม มีการแจ้งตัวเลขว่าระบบสาธารณสุขรับได้ 40,000 เตียง เป็นโรงพยาบาลหลัก 20,000 เตียง โรงพยาบาลสนาม 20,000 เตียง วันนี้ตัวเลขผู้ป่วยเกินกว่าที่ระบบจะรับได้ไปมากกว่า 50% แล้ว โดยผู้ติดเชื้อที่ต้องรับการรักษามากกว่า 60,000 เตียง โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามมากกว่าอย่างละ 30,000 เตียง
วันนี้ 7 กรกฎาคม 2564 
ติดเชื้อเพิ่ม 6519 ราย
สะสมระลอกที่สาม 272,309 ราย
สะสมทั้งหมด 301,172 ราย
ออกจากโรงพยาบาล 4148 ราย
สะสม 203,745 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2293 ราย
สะสมทั้งหมด 2387 ราย

ติดเชื้อโควิดยังพุ่ง \"หมอเฉลิมชัย\" แนะล็อกดาวน์พื้นที่ระบาดหนัก

สำหรับประเด็นเรื่องขอเสนอในการล็กดาวน์นั้นพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)หรือ ศปก.ศบค.กล่าวว่า  ได้ยินอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ตอนนี้เรารอข้อเสนออย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อน โดย ศบค.พร้อมรับไว้พิจารณาอยู่แล้ว จากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
"ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ แต่ตัวเลขจะถึงขั้นไหนค่อยมาว่ากันอีกที อยากให้สื่อทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ ว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้าเป็นเหมือนตอนเดือนเม.ย.2563 คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวส์ด้วย แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ล็อกดาวน์แต่เป็นการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ดังนั้นถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ คนจะเข้าเข้าใจว่าเหมือนเดือนเม.ย.2563ซึ่งความหมายผิดเพี้ยนไป"
อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้เลยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นก็อาจจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15วัน เพื่อประเมินทีเดียว แล้วดูให้ครบถ้วน โดยเราต้องทำอย่างอื่นไปด้วยเช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ ไม่ใช่ว่าเราจะนั่งรอดูตัวเลขอยู่เฉยๆ
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าหากจะประกาศล็อกดาวน์ จะประกาศเฉพาะพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด หรือจะประกาศในภาพรวมทั้งหมด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาดทั้งใน กทม.และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นจะมีมาตรการเสริม หากล็อกดาวน์หรือเซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะกทม.หรือปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำ ก็จะไม่สอดคล้องกันดังนั้นต้องลดหลั่นไปตามความเหมาะสม
ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ คำว่า"ล็อกดาวน์" พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ความหมายต้องชัดเจน คำว่าล็อกคือไม่ให้ไปไหน แต่ช่วงหลังให้ไปไหนมาไหนได้ เมื่อใดที่ต้องใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือทำบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ต้องระบุให้ชัดเจน