องค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ.)ออกแถลงการณ์ กรณีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูลราคานำเข้าและการจัดเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นา 584 บาทต่อโดสไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนี้
1. จากที่ได้มีการนำเสนอว่า “ราคาวัคชีนโมเดอร์นา ที่นำเข้ามา ราคา 584 บาทต่อโดส”นั้น ขอชี้แจงว่า ราคา 584 บาทต่อโดส เป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตามองค์การฯไม่สามารถเปิดเผยราคานำเข้าได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ได้มีการกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในการเจรจาซื้อขาย ที่ไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่าย เปิดเผยราคาซื้อขายของคู่ค้าได้
โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นา เป็นผู้กำหนดราคาซื้อขาย มีข้อมูลที่เป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไปว่าราคาซื้อขายในตลาดโลก(อ้างอิงจากเว็บไซต์ www.biospace.com) อยู่ที่ ประมาณ 25-37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 โดส โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและจำนวนในการจัดซื้อในแต่ละครั้ง
2.การกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นา ให้กับโรงพยาบาลเอกชน ที่ราคา 1,100 บาทต่อโดสนั้น เป็นราคา ที่มาจากราคาวัคซีนที่องค์การเภสัชกรรม ได้รับจากบริษัทซิลลิค ฟาร์มา รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รวมกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ อาทิ ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคล เพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา กรณีที่อาจมีอาการไม่พึงประสงค์
ดังนั้นประเด็นที่มีการกล่าวหาว่า มีการบวกกำไรหรือภาษีเข้าไปในราคาขายถึง 516 บาท หรือ 88 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่เป็นความจริง
3.องค์การเภสัชกรรม ได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในการเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นตัวแทนจัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น
โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการป้องกันต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงเพิ่มเติมประเด็นเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม วัคซีนโมเดอร์นา ว่า อาจจะเป็นการเข้าใจ คลาดเคลื่อนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับสาธารณชน โรงพยาบาลเอกชน ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โรงพยาบาลเอกชน จึงไม่สามารถเรียก เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากวัคซีนทางเลือก ที่ให้บริการแก่ประชาชนได้ ตามมาตรา๕๑(๑) (ญ) แห่งประมวล รัษฎากร การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ได้รับการยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม
สําหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีภาษีซื้อที่เกิดจากต้นทุนการซื้อ สามารถนํามาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามปกติ ซึ่งกรมสรรพากร จะรีบดําเนินการ คืนให้โดยรวดเร็ว
สําหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของโรงพยาบาลเอกชน หากโรงพยาบาลเอกชนมีกําไรจากการ ประกอบการ ก็เป็นหน้าที่ปกติของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องเสียภาษีเงินได้จากกําไรเช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการอื่น ๆ