รู้จัก "วัคซีนโควิด-19" เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน Novavax-Abdala

20 ก.ค. 2564 | 01:27 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2564 | 08:30 น.

หมอเฉลิมชัยเปิดข้อมูลวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยีที่ 4 ที่ฉีดในคนได้จริงใช้โปรตีนเป็นฐาน Novavax จากสหรัฐอเมริกา และAbdala จากคิวบา เผยไทยเริ่มติดต่อเพื่อนำเข้าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
วัคซีนโควิดเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเป็นลำดับที่ 4 Novavax ของสหรัฐฯ ป้องกันได้ 89.7%  Abdala ของคิวบาป้องกันได้ 92.28%
จากที่โลกเรา ได้มีการวิจัยพัฒนา วัคซีนหลากหลายเทคโนโลยี ต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ
โดยเทคโนโลยีที่สามารถผลิตวัคซีนได้มีมากกว่า 10 ชนิดด้วยกัน แต่จนถึงปัจจุบัน มีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน( EUA) แล้ว 3 เทคโนโลยีได้แก่
1.เทคโนโลยีเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ตัวอย่างเช่น Sinovac และ Sinopharm ของประเทศจีน
2.เทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ตัวอย่างเช่น  AstraZeneca ของอังกฤษ , Johnson & Johnson ของสหรัฐอเมริกา และ Sputnik V ของรัสเซีย
3.เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ตัวอย่างเช่น Pfizer และ Moderna ของสหรัฐอเมริกา
แต่ยังมีอีกหนึ่งเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิดที่สำคัญ และมีความก้าวหน้ามาก จะติดตามมาเป็นเทคโนโลยีที่ 4 ที่สามารถฉีดให้กับคนได้จริงคือ เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน (Protein Based vaccine)ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสนใจ โดยผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ประสานเบื้องต้นเพื่อขอจองวัคซีนแล้วสองบริษัทด้วยกัน คือ Novavax ของสหรัฐอเมริกา Abdala ของคิวบา
วันนี้จึงมีความเหมาะสม ที่จะมาทำความรู้จักกับวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐานกัน

หมอเฉลิมชัย ระบุว่า เทคโนโลยีนี้คือ การนำบางชิ้นส่วนของไวรัสที่เป็นโปรตีน ( Protein Subunit) ฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ เพื่อให้กระตุ้นภูมิต้านทาน โดยใส่ตัวกระตุ้นเสริม (Adjuvant) เข้าไปด้วย
วัคซีนตัวที่หนึ่ง Novavax
ผลิตโดยบริษัทของสหรัฐอเมริกา  มีประสิทธิผลป้องกันได้ 89.7% ฉีดสองเข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ เก็บที่อุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส)
สิงหาคม 2563 
มีการทดลองเฟส 2 อาสาสมัคร 2,900 คน ในประเทศแอฟริกาใต้
กันยายน 2563 
ทดลองเฟส 3 อาสาสมัคร 15,000 คน ในประเทศอังกฤษ
และเดือนเดียวกัน ได้ทำความตกลงกับสถาบันซีรั่มของอินเดีย ที่จะผลิตให้ 2,000 ล้านโดสต่อปี
ธันวาคม 2563 วิจัยทดลองเฟส 3 ในสหรัฐอเมริกา
11 มีนาคม 2564 
ผลการวิจัยเฟส 3 ที่อังกฤษ ออกมาดีมาก มีประสิทธิผลต่อไวรัสสายพันธุ์หลัก 96.4% ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 86.3% แต่ป้องกันสายพันธุ์เบต้าในประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ค่อยดีได้เพียง 49% สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาลหรือเข้าไอซียูได้ 100% จะเริ่มผลิตอย่างเป็นทางการ ในเดือนกรกฎาคม 2564 และกำลังการผลิตจะเต็มที่ในเดือนธันวาคม 2564

วัคซีนจากประเทศคิวบา
วัคซีนตัวที่สอง Abdala
วัคซีนของคิวบา
จากการทดลองเฟส 3 ให้ประสิทธิผลป้องกันโรคสูงถึง 92.28%
18 มีนาคม 2564 วิจัยพัฒนาเฟส 3 ในอาสาสมัคร 48,000 คน
21 มิถุนายน 2564 รัฐบาลคิวบา แถลงถึงประสิทธิผล 92.28%
9 กรกฎาคม 2564 จดทะเบียนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ในคิวบา

ยังมีวัคซีนที่อยู่ในเฟส 3 ด้วยเทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐานอีกหลายบริษัท ที่น่าสนใจได้แก่ BEKTOP ของรัสเซีย ZFSW ของจีน
ส่วนวัคซีนของไทย ที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน ได้แก่ บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพอยู่ภายใต้การสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จะเริ่มทดลองเฟส 1 ในมนุษย์ กันยายน 2564 โดยพบว่าการทดลองเข็มสามในลิงสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ดี คาดว่าจะสามารถฉีดให้กับคนทั่วไปในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ในต้นปีหน้า มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 12-60 ล้านโดสต่อปี
วัคซีนที่ใช้โปรตีนเป็นฐาน จึงเป็นเทคโนโลยีที่ 4 ของโลก และมีประสิทธิผลค่อนข้างสูงจากงานวิจัยเฟส 3 
การที่ประเทศไทย ได้เริ่มติดต่อกับทั้งของสหรัฐและคิวบาแล้ว ต้องถือว่าเป็นแนวคิดและการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการที่รัฐบาลให้ความสนับสนุนบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสได้ใช้วัคซีนเทคโนโลยีที่ 4 ในเร็ววันนี้
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการฉีดจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 ก.พ.-18 ก.ค. 64 พบว่า ฉีดสะสมจำนวน 14,298,596 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 10,850,099 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,448,497 ราย