3 ภาคีแนะทางรุ่งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสวนกระแสวิกฤตโควิด-19

27 ก.ค. 2564 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2564 | 14:35 น.

3 ภาคีแนะทางรุ่งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสวนกระแสวิกฤตโควิด เอกชนและเกษตรกรผลิตตามมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการผลิต เน้นประสานความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างภาครัฐ

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ. 2564 ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (United States Department of Agriculture : USDA) พบว่า ภาพรวมคลังน้ำตาลในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น 3 ล้านตัน จากเดิม 42.8 ล้านตัน เป็น 45.8 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณการบริโภคลดลง มีการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ยกเว้นบางประเทศที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย รวมทั้ง ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา 
จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมน้ำตาลและอ้อยของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในตลาดโลก ภาคเอกชนและเกษตรกรจะต้องนำมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น Bonsucro หรือ Fairtrade International และ Organic เข้ามาปรับใช้ตลอดกระบวนการ ให้สอดคล้องกับความต้องการแต่ละตลาด ตลอดจน จะต้องพัฒนาระบบบริหารการจัดการ เทคโนโลยีในการผลิต เก็บเกี่ยวและขนส่งให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง ต้นทุนลดลงแต่กำไรเพิ่มมากขึ้น

นายธวัช หะหมาน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาด้านอ้อย น้าตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้าตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) กระทบต่อการส่งออกและการบริโภค ร่วมกับปัญหาสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลแปรปรวน ส่งผลต่อการผลิตของชาวไร่อ้อย จะเป็นปัญหาหลักแล้ว แต่ยังมีวิกฤตอื่นที่เกษตรกรยังไม่สามารถจัดการได้ อาทิ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขาดเสถียรภาพและความมั่นคงในการส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล ขาดแหล่งทุน ขาดแรงงาน และการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวทำให้เกิดมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 
ดังนั้น สอน. จึงแสวงหาหนทางก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ โดยขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาแบบองค์รวม (BCG) ใน 3 มิติ ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปรับแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนับสนุนอุตสาหกรรมโดยไม่ขัดแย้งกับข้อบังคับความร่วมมือในระดับนานาชาติ จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เครื่องจักร เพื่อส่งเสริมการผลิต พัฒนาความรู้ สร้างเครือข่าย และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้ง สร้างกลไก และสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลรับซื้อเศษซากใบ และยอดอ้อย และผลักดันธุรกิจที่ต้องการเชื้อเพลิงได้ใช้ เศษซากใบและยอดอ้อย อย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นประสานความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และเกษตรกร

นายผดุงพงศ์ เสริญไธสง ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการ ซินเจนทา กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีบทบาทสำคัญต่อประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งในด้านการบริโภคน้ำตาลในประเทศแต่ละปี และส่งออก หัวใจสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาภาคการผลิตให้มีศักยภาพเพื่อให้ผลผลิตสูงสุด สอดล้องกับเป้าหมายของซินเจนทา ในการนำนวัตกรรมมาช่วยเหลือกระบวนการผลิต เพื่อลดความสูญเสีย ดูแล และกระตุ้นให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจัดการกับวัชพืช ที่เป็นศัตรูอ้อยที่สำคัญ หากไม่มีการจัดการที่ดีจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงทันที ประกอบกับปัจจุบัน เกษตรกรประสบปัญหาวัชพืชต้านทานสารกำจัดวัชพืชเดิม ทำให้ต้องผสมสารฯ หลายชนิดเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นวัตกรรมล่าสุดของซินเจนทา จึงได้แนะนำคาลารีส (Calaris)ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์และการสังเคราะห์แสงของวัชพืช มีประสิทธิภาพคุมวัชพืชได้นาน ไม่เป็นพิษต่ออ้อย นวัตกรรมคาลารีส (Calaris) จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนด้านแรงงาน ไม่ต้องกำจัดวัชพืชบ่อยครั้ง เหมาะกับสภาวะปัจจุบันและอนาคตที่แรงงานในภาคเกษตรขาดแคลนจึงต้องนำนวัตกรรมมาใช้ และยังตอบโจทย์เพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากลต่างๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ ซินเจนทา กำลังวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่เพิ่มเติม ชื่อ โมดดัส (MODDUS) ซึ่งจะมาช่วยให้ผลผลิตดีขึ้นด้วยการเพิ่มค่าโพล หรือ น้ำตาลซูโครสในอ้อย (Pol) ทำให้ผลผลิตอ้อยมีค่าน้ำตาลเพิ่มขึ้น หรือ ร่นระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น อันจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ทุก ๆ 1 ซีซีเอส (C.C.S.) หรือ ค่าร้อยละของน้ำตาลซูโครส จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 50 บาทต่อ 1 ตันอ้อย หรือคิดเฉลี่ยต่อไร่ จะได้เพิ่ม 500 บาท