จับตา รง.น้ำตาลระส่ำ! อ้อยขาด-แข่งแย่งซื้อ ส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี

19 มิ.ย. 2564 | 09:30 น.

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศในปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ฟังจากกนายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติที่ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง รวมถึงสินค้าที่ราคาขึ้น-ลงล้วนมีโอกาสเจ็บตัวได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอ้อย  พืชหลักในการผลิตน้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่ต้องจับตานับจากนี้ไป

ขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะเป็นอย่างไร หากบริหารจัดการไม่ดี หรือรับมือไม่ทัน อีกทั้งการเชื่อมโยงของราคาน้ำตาลที่ขายในประเทศและส่งออกอิงราคาตลาดโลก นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางภาพรวมจากนี้ไป และสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลปี 2564/65 ขณะที่โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างน่าติดตาม

อภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.)

นายอภิชาติ เกริ่นให้เห็นภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลปี 2564/65 ว่า น่าจะผ่านช่วงย่ำแย่ใน 3 ปีที่ผ่านมา ที่ได้รับผลกระทบทั้งราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ไม่ค่อยดีนัก และปริมาณอ้อยที่ถดถอยอย่างเด่นชัด (กราฟประกอบ) เนื่องจากจากภาวะภัยแล้งและเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าและทนแล้งได้มากกว่า

ฤดูการผลิตปี 2564/65 ผลผลิตอ้อยจะดีขึ้นจากปี 2563/64 (คาดจะมีผลผลิต 85 ล้านตัน +/- 5 ล้านตัน) เนื่องจากโรงงานออกมาประกันราคาอ้อยที่ 1,000 บาทต่อตัน ไม่รวม CCS (ค่าความหวานของน้ำตาล) ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ภาวะภัยแล้งในปีนี้น่าจะหายไป ปริมาณฝนที่ผ่านมาค่อนข้างดี ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยก็น่าจะหายใจได้ดีขึ้น เหล่านี้คือภาพรวมในแง่ชาวไร่อ้อย

โรงงานน้ำตาลเสี่ยง 3 ด้าน

ส่วนในแง่โรงงานน้ำตาลกว่า 50 โรงงานในประเทศ ยังมีความเสี่ยง 3 ด้านหลักคือ  1.ปริมาณผลผลิตอ้อยไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตที่มี อาจจะมีการแย่งซื้ออ้อยในบางพื้นที่เกิดขึ้น เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะต้องใช้ปริมาณอ้อยมากกว่า 90 ล้านตันขึ้นไป แต่ฤดูการผลิตอ้อยปี 2564/2565 คาดว่าจะหีบอ้อยได้รวมทั้งสิ้นราว 80-85 ล้านตัน 

ทั้งนี้ภาวะอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยปี 2559/2560 ผลิตน้ำตาลได้ 10 ล้านตัน ส่งออก 7.5ล้านตัน ปี2560/2560 ผลิตน้ำตาลได้ 14.71 ล้านตัน ส่งออก12.21 ล้านตัน ปี2561/2562 ผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตัน ส่งออก 12.08 ล้านตัน ปี 2562/2563 ผลิตน้ำตาลได้ 8.17 ล้านตัน  ส่งออก 5.67 ล้านตัน  และปี 2563/2564 ผลิตน้ำตาลได้ 6.5-7 ล้านตัน ส่งออกได้ราว 4-4.5 ล้านตันโดยแต่ละปีจะแบ่งน้ำตาลรองรับตลาดในประเทศให้เพียงพอก่อนซึ่งจะมีสัดส่วนราว 2.5 ล้านตันต่อปี  จะเห็นว่าปริมาณน้ำตาลจะลดลงต่อเนื่องตามปริมาณอ้อยแต่ละปี

ประเทศไทยเคยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสู่โรงงานน้ำตาลสูงสุดในปี 2560/2561 ถึง 134.93 ล้านตัน หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงตามลำดับ ดังนี้ ปีการผลิต 2561/2562 ปริมาณอ้อยลดลงเหลือ 130.97 ล้านตัน ปีผลิต 2562/ 2563 เหลือ 74.89 ล้านตัน และปีผลิต 2563/2564 ลดลงมาเหลือ 66 ล้านตัน และปีผลิต 2564/2565 คาดปริมาณอ้อยจะขยับดีขึ้น (คาดอยู่ที่ 80-85 ล้านตัน) แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการขยายตัวของโรงงานน้ำตาลในปัจจุบัน

“สถานการณ์การหีบอ้อยในประเทศไทยปีนี้ คาดจะมีการหีบอ้อยรวมได้ประมาณ 85 ล้านตัน (บวกและลบ 5 ล้านตัน) และคิดว่าปริมาณอ้อยคงไม่เพียงพอป้อนโรงงานน้ำตาล เนื่องจากกำลังการผลิตมีมากกว่าปริมาณอ้อยมาก”  

2.การบริหารด้านราคาขายน้ำตาลทำได้ยากขึ้น เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลก และการคาดการณ์จำนวนอ้อยที่จะเข้าโรงงาน  3.การส่งออกน้ำตาลจะลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีคาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 4.00 - 4.50 ล้านตัน จากเดิมเคยส่งออกได้ 7-10 ล้านตันต่อปี

จับตา รง.น้ำตาลระส่ำ!  อ้อยขาด-แข่งแย่งซื้อ  ส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี

อย่างไรก็ตามปี 2564/65 อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลไทยต้องปรับตัว โดยชาวไร่อ้อย จะต้องลดต้นทุนในการผลิตอ้อย เช่น ไม่ปลูกอ้อยในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ปลูกให้เหมาะสมกับกำลังและความสามารถ เป็นต้น และหันมาใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน เช่น เครื่องจักรในการตัดอ้อย เพื่อทดแทนแรงงานที่หายากมากขึ้น   ส่วนในแง่โรงงานน้ำตาล จะต้องระมัดระวังในการขายน้ำตาลล่วงหน้า และ การทำราคาน้ำตาล (Pricing) และเข้ามาสนับสนุนและดูแลชาวไร่ให้มากขึ้น (ชาวไร่ที่มีจรรยาบรรณ)

 

น้ำตาลโลกแนวโน้มขาด

เมื่อถามว่าตลาดโลกจะเจอภาวะน้ำตาลขาดแคลนหรือไม่ ผู้จัดการทั่วไปอนท. มองว่าในปี 2564/65 คาดว่าจะอยู่ในภาวะที่สมดุล หรือ อาจจะเกินดุลหรือขาดดุลไม่น่าเกิน 2 ล้านตัน แต่ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงไปในทางที่ขาดดุลมากกว่า เนื่องจากราคาเอทานอล (Hydrous) ที่ 17.97 เซนต์ต่อปอนด์ (ปรับหน่วยราคาเพื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำตาล) ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ในบราซิลเริ่มมีราคาที่สูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก  มีโอกาสที่โรงงานน้ำตาลจะหันไปผลิตเอทานอลมากขึ้น และลดการผลิตน้ำตาลลง ประกอบกับภาวะแห้งแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยในภาคกลางและภาคใต้ในบราซิลน่าจะลดลงไปไม่น้อยกว่า 30 ล้านตันอ้อย แม้ว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตน้ำตาลมากขึ้นกว่า 2 ล้านตันจากปีที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป(อียู) ก็น่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านตัน ก็อาจจะไม่พอเพียงกับการลดลงของการผลิตประเทศบราซิล

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีข่าวว่าการบริโภคน้ำตาลของอินเดียในปีนี้น่าจะลดลงมากว่า 2 ล้านตัน หากการบริโภคในระดับโลกยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไวรัสโควิด  สมดุลของน้ำตาลอาจจะกลับมาเป็นบวกได้  ขณะที่สถานการณ์โควิดทำให้อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลในตลาดโลกในมุมของอุปทาน ไม่ค่อยมีผลกระทบมากนักในการผลิตอ้อย แต่จะมีผลกระทบในด้านการขนส่งที่อาจล่าช้ามากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  รวมถึง อัตราค่าขนส่งระหว่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

“แต่ทางด้านอุปสงค์ค่อนข้างมีผลกระทบอย่างเด่นชัด ทำให้การบริโภคทั่วทั้งโลกลดลง จากปกติการบริโภคเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1% แต่ในปีนี้ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าการบริโภคจะกลับมาเติบโตหรือไม่ ลำพังแค่อินเดียประเทศเดียวก็น่าจะลดลงมากกว่า 2 ล้านตัน ส่วนของไทยเราเองก็ลดลงมา 2 ปีติดกัน ส่วนปีปัจจุบันก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องติดตาม”

-ภัยแล้งทุบขาใหญ่บราซิลผลผลิตร่วง

นอกจากนี้วิกฤติภัยแล้งจะทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิล คาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดลงประมาณ 30-40 ล้านตันจากปีที่แล้ว ในเขต CS Brazil ก็น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญอันหนึ่งที่ปริมาณน้ำตาลจะลดลง แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบมากกว่าคือ สัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่า หากว่าโรงงานปันส่วนอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น ก็ทำให้ปริมาณน้ำตาลจะลดลงอย่างมาก อันจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำตาลอย่างมีนัยยะสำคัญ

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วิกฤติอ้อย-น้ำตาลไทย ราคาร่วง ส่งออกวูบ ผลผลิตหายรุนแรง

"ต้นแบบเลิกจ้าง"รง.น้ำตาลกุมภวาปี"ให้"มากกว่ากฎหมาย

3 ส.โรงงานน้ำตาลทรายวอนสภาขอมีส่วนร่วมแก้ พ.ร.บ. อ้อยฯ

ครม.เคาะแล้วกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 920 บาท/ตัน ปีการผลิต 63/64

สอน.ผนึกซีแพคแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้-PM 2.5 สร้างรายได้ในระบบกว่า 500 ล้าน