ผงะ! หมอเฉลิมชัยคาด กทม. ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดไม่แสดงอาการอีกกว่า 5 แสนราย

28 ก.ค. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2564 | 08:59 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการประมาณการณ์ คาดกรุงเทพมหานครยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่ประมาณ 4-5 แสนราย ระบุะประชากรส่วนนี้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การเกิดการแพร่ระบาดและควบคุมโรคได้ยาก

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ประมาณการว่า กรุงเทพฯ น่าจะยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่ประมาณ 4-5 แสนราย
ด้วยเหตุที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด เป็นไวรัสใหม่และก่อให้เกิดโรคใหม่คือ โควิด-19 จึงทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับไวรัสและโรคโควิด-19 ทยอยพัฒนาเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
จากความรู้ทางด้านไวรัส ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดนั้น พบว่าเมื่อตอนต้นปี 2563 นักวิชาการคาดคะเนว่า ในผู้ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการมากถึง 80% และติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ 20%
แต่เมื่อเวลาผ่านมาหนึ่งปีเศษ จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยจริงและการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ก็ประมาณการว่า
ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการมีเพียง 20% หรือหนึ่งในห้า และมีการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมากถึง 80% หรือสี่ในห้าส่วน
โดยที่ศักยภาพการตรวจมาตรฐานเพื่อหาไวรัสหรือ RT-PCR มีข้อจำกัดทั้งเรื่องการเก็บตัวอย่างที่ยุ่งยาก ต้องใช้บุคลากรทางสาธารณสุข ต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนและราคาแพง ตลอดจนน้ำยาชุดตรวจก็มีค่าใช้จ่ายสูง การรอผลการตรวจก็กินเวลามาก จึงทำให้เป็นข้อจำกัด ที่ทุกประเทศจะต้องเน้นตรวจเฉพาะผู้ที่แสดงอาการเป็นหลัก และถ้ายังมีศักยภาพเหลือบางส่วน จึงจะนำไปตรวจผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แต่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงที่เรียกว่า การตรวจเชิงรุก
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จึงพบรายงานผลการตรวจในแต่ละวันว่า ผู้ติดเชื้อจะอยู่ในกลุ่มตรวจพบในระบบบริการ มากกว่าการตรวจเชิงรุก เช่น ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นการตรวจพบในระบบบริการ 10,407 ราย ในขณะที่เป็นการตรวจเชิงรุกเพียง 3,459 ราย และเมื่อเก็บข้อมูลสะสมย้อนหลังไป 14 วัน พบว่าเป็นการตรวจพบในระบบ 126,181 ราย คิดเป็น 76.20% ในขณะที่เป็นการตรวจเชิงรุกเพียง 39,402 รายคิดเป็น 23.80% ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของการตรวจพบผู้ติดเชื้อแสดงอาการ และไม่แสดงอาการดังกล่าวข้างต้น
จึงคาดได้ว่า ยังมีประชากรที่ติดเชื้อแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยมาก จึงยังไม่ได้รับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCT เป็นจำนวนมาก และประชากรส่วนนี้ อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้การเกิดการแพร่ระบาดและควบคุมโรคได้ยาก เพราะเจ้าตัวเอง ก็ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ จึงไม่ได้ระมัดระวัง การเร่งตรวจเชิงรุก เพื่อหาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ จึงเป็นมาตรการสำคัญยิ่ง เพื่อที่จะสกัดหรือทำการควบคุมการระบาดของโควิด-19

ในขณะนี้ ได้มีการพัฒนาชุดทดสอบหาไวรัสด้วยตนเองที่บ้านเรียกว่า Antigen Test Kit :ATK ซึ่งทำได้ง่าย ทราบผลเร็ว ราคาถูก และผลิตได้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้ทางการของไทย ก็ได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองได้แล้ว
จึงเกิดประเด็นคำถามสำคัญขึ้นว่า ถ้ามีการระดมตรวจด้วยชุดทดสอบด้วยตนเองที่บ้าน (ATK) อย่างกว้างขวาง จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด และจะเป็นภาระในการดูแลผู้ติดเชื้อเหล่านี้อย่างไรต่อไป

ชุดตรวจ  Antigen Test Kit
มีวิธีการคาดเดาหรือประเมินได้สองวิธีดังนี้
1.ประเมินจากองค์ความรู้ ที่บอกว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส 100 คน จะแสดงอาการเพียง 20 คน แล้วติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการถึง 80 คน สัดส่วนหนึ่งต่อสี่
ขณะนี้กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 137,263 ราย เป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่มีอาการในระบบ 104,594 ราย ทำให้คาดได้ว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเป็นสี่เท่าเท่ากับ 418,378 ราย แต่ในการตรวจของกรุงเทพมหานครนั้นได้ตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการไปแล้ว 39,402 ราย เมื่อนำมาหักออกจากค่าประมาณการ 418,378 ราย จึงคาดว่าจะเหลือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่อีก 378,976 ราย
2.ประเมินจากการพบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ด้วยชุดทดสอบตนเองที่บ้านแล้ว พบว่ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 11.70% ของจำนวนผู้ทดสอบทั้งหมด (โดยมาจากตัวอย่างเบื้องต้น 9427 ตัวอย่าง)
เมื่อคำนวณประชากรของกรุงเทพมหานคร ตามทะเบียนราษฎร์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 5,487,876 คน จึงคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อ 642,081 คนขณะนี้ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 137,263 คน จึงเหลือผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการอยู่ 504,818 คน จะเห็นได้ว่า การประเมินหรือคาดเดา จากทั้งสองวิธีนั้น มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ในเขตกรุงเทพฯประมาณ 4-5 แสนคน ทำให้ผู้รับผิดชอบในเขตกรุงเทพฯ จำเป็นที่จะต้องวางระบบ เพื่อรองรับ ผู้ที่ตรวจพบผลเป็นบวก จากชุดทดสอบด้วยตนเองดังกล่าว ซึ่งทางการได้ประกาศว่า จะแจกหรือใช้ตรวจให้กับประชาชนฟรีจำนวน 8.5 ล้านชุดทดสอบ
ถ้าเราตรวจพบผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ 4- 500,000 รายดังกล่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จึงสามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ มีเพียงส่วนน้อย ที่อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลัก
การจัดระบบความพร้อม ของผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) จำนวนมากนี้ จำเป็นจะต้องมีซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์มที่จะรายงานอาการของผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน ให้ทราบการเปลี่ยนแปลงและแจ้งผลมาที่โรงพยาบาลหลักโดยเร็วทุกวัน เพื่อที่จะรองรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่บ้าน และจากการคาดหมายในทำนองเดียวกัน ในเขตปริมณฑลอีกห้าจังหวัด ซึ่งมีประชากรรวม 5,228,137 คน เทียบเท่ากับประชากรของ กรุงเทพมหานครจำนวน 5,487,876 ราย
แยกเป็น
สมุทรปราการ   1,332,683 คน
นนทบุรี             1,266,730 คน
ปทุมธานี           1,166,979 คน
นครปฐม           910,511 คน
สมุทรสาคร       551,234 คน

ก็คงจะมีผู้ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการและตรวจพบด้วยชุดทดสอบด้วยตนเองที่บ้านในจำนวนใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ
ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ และต้องดูแลรักษาตัวที่บ้านในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวนมากถึง 800,000 ถึง 1,000,000 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,000,000 คน
จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะต้องจัดระบบรองรับเป็นอย่างดีต่อไป
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 28 กรกฏาคม 64 นั้น จากการติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 16,533 ราย
ติดในระบบบริการ 13,447 ราย
ติดจากการตรวจเชิงรุก 2874 ราย
ติดในเรือนจำ 202 ราย
ติดในสถานกลับตัว 10 ราย
สะสมระลอกที่สาม 514,498 ราย 
สะสมทั้งหมด 543,361 ราย
รักษาตัวอยู่ 178,270 ราย
โรงพยาบาลหลัก 67,084 ราย
โรงพยาบาลสนาม 111,186 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย
อาการหนัก 4325 ราย 
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 995 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 10,051 ราย
สะสม 360,913 ราย
เสียชีวิต 134 ราย
สะสมระลอกที่สาม 4304 ราย
สะสมทั้งหมด 4398 ราย
ฉีดวัคซีนแล้ว 16.089 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 12.301 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 3.788 ล้านเข็ม