ตรวจสอบสิทธิ ธนาคารออมสิน พักหนี้ 6 เดือน บนแอป MyMo เช็คด่วน

29 ก.ค. 2564 | 21:04 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2564 | 21:10 น.

ตรวจสอบสิทธิ ธนาคารออมสิน หลังยื่นขอพักชำระหนี้ จากมาตรการเยียวยาโควิด เป็นระยะเวลา 6 เดือน เช็คด่วนบนแอป MyMo รีบเลย

จากกรณีที่ ธนาคารออมสิน ออกมาตราการเยียวยาพักชำระหนี้ทั้งตนและดอกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ปรากฎว่ามีลูกหนี้กดรับสิทธิแล้วกว่า 5 หมื่นราย พร้อมเตรียมเปิดสิทธิเฟส2 ช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้

 

ล่าสุด นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท โดยให้พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวด ก.ค.- ธ.ค. 64 ซึ่งมีลูกค้าประมาณ 750,000 รายที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ โดยธนาคารได้เริ่มทยอยเปิดสิทธิ์ให้ลูกค้าสามารถกดเข้าร่วมมาตรการผ่านแอป MyMo แล้วกว่า 348,000 ราย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ภายในเวลา 3 วันมีลูกค้าเข้ากดรับสิทธิ์แล้วประมาณ 50,000 ราย ซึ่งธนาคารจะเริ่มเปิดสิทธิเฟสที่สองช่วงต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2564

 

 

 

ตรวจสอบสิทธิ ธนาคารออมสิน พักหนี้ 6 เดือน บนแอป MyMo เช็คด่วน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิ์ตามมาตรการอย่างทั่วถึง และสะดวกรวดเร็ว จึงขอให้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โปรดเร่งเข้าตรวจสอบสิทธิ์ในแอป MyMo และกดทำรายการได้ทันทีที่ปรากฎเมนูพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนผู้ที่ยังไม่มีแอป MyMo แต่มีบัตรเดบิต สามารถดาวน์โหลดและเปิดใช้งานแอป MyMo ด้วยตนเองได้โดยใช้ข้อมูลบัตรเดบิต ซึ่งจะได้รับความสะดวกในการขอพักชำระหนี้โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อที่สาขาธนาคาร และเป็นการลดความเสี่ยงการติดเชื้อในช่วงนี้อีกด้วย โดยลูกค้าสามารถศึกษาวิธีการดาวน์โหลดและเปิดใช้แอป MyMo ด้วยตนเองได้ที่ www.gsb.or.th หรือสอบถามที่ GSB Contact Center โทร. 1115 กด 1

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ / มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน แก่กิจการที่ทางราชการประกาศปิด / มาตรการตามมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น รวมช่วยเหลือลูกหนี้แล้วจำนวนกว่า 8 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท

 

ที่มา: ธนาคารออมสิน