วิธีสังเกตปอดอักเสบจากโควิด หมอนิธิพัฒน์ชี้ไข้เกิน 38.5 นาน 2 วันเข้าข่าย

30 ก.ค. 2564 | 03:26 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 10:26 น.

หมอนิธิพัฒน์เผยวิธีสังเกตปอดอักเสบจากโควิด-19 ด้วยตนเอง ชี้ไข้เกิน 38.5 องศา นาน 2 วัน หายใจเหนื่อยหรือหายใจเร็วกว่า 22 ครั้งต่อนาที หรือเจ็บหน้าอกเวลาสูดหายใจลึกหรือเวลาไอเข้าข่าย

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า  
ตอนที่ 2 ปุจฉาวิสัชนาโควิดสำหรับประชาชน 
ปุจฉา: แพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบโควิดได้อย่างไรและเราจะสังเกตตัวเองที่บ้านได้ไหม
วิสัชนา: แพทย์จะอาศัยประวัติการมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ประกอบกับการพบฝ้าขาวในเอกซเรย์ปอด สำหรับผู้ที่สังเกตอาการของตัวเองอยู่ที่บ้าน ทั้งที่รู้ว่าติดโควิดแล้วแต่แพทย์ให้รักษาตัวเองนอกโรงพยาบาล หรือเป็นผู้มีความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้ตรวจ หากมีอาการข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ท่านอาจเกิดปอดอักเสบโควิดแล้ว คือ 
1.ไข้เกิน 38.5 องศา เป็นเวลา 2 วัน หรือ 
2.หายใจเหนื่อยหรือหายใจเร็วกว่า 22 ครั้งต่อนาที หรือ
3.เจ็บหน้าอกเวลาสูดหายใจลึกหรือเวลาไอ 
เมื่อแพทย์วินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นปอดอักเสบแพทย์จะเริ่มให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ แล้วส่วนใหญ่จะให้รักษาตัวในโรงพยาบาล หรืออาจให้รักษานอกโรงพยาบาลได้ถ้าเราแข็งแรงดีและดูแลตัวเองได้ จากนั้นจึงประเมินว่าปอดอักเสบมีความรุนแรงต้องให้ออกซิเจนร่วมรักษาด้วยหรือไม่ โดยพิจารณาจากการวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากจังหวะการเต้นของเส้นเลือด (oxygen saturation from pulse oximetry ต่อไปจะเรียกย่อว่า วัดแซต) ซึ่งถ้าในขณะอยู่นิ่งถ้ามีค่าตั้งแต่ 94% ลงไป จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนเสริม

ปุจฉา: การวัดแซตมีประโยชน์อย่างอื่นอีกหรือไม่
วิสัชนา: เมื่อพบว่าเป็นปอดอักเสบโควิดแล้ว แพทย์จะพิจารณาว่าวัดแซตในขณะอยู่นิ่งได้เท่าไร ถ้าพบว่ามีค่าตั้งแต่ 95% ลงไป หรือถ้ามีค่าตั้งแต่ 96% ขึ้นไป แต่ลดลงอย่างน้อย 3% เมื่อออกแรงโดยเดินเร็วๆ ราว 3 นาที หรือลุกนั่งซ้ำๆ ติดต่อกันราว 1 นาที แสดงว่าการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปกติมาก จำเป็นต้องให้ยาต้านการอักเสบเพื่อปรับสมดุลภูมิคุ้มกันตอบสนองของร่างกายให้พอเหมาะ ด้วยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ซึ่งจะเป็นเดกซาเมทธาโซนหรือเพรดนิโซโลนก็ได้ โดยจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์คู่กับสเตียรอยด์นี้นาน 10 วัน สำหรับคนที่มีโรคเบาหวานชนิดควบคุมได้ยากหรือมีปัญหาอาเจียนเป็นเลือดเพิ่งหายไม่นาน ต้องแจ้งแพทย์เพราะอาจเกิดอันตรายจากการได้รับยาสเตียรอยด์ 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
ทั้งนี้เครื่องมือที่ใช้วัดแซตมักใช้จับที่ปลายนิ้ว ส่วนใหญ่เป็นนิ้วชี้ ควรเป็นเครื่องมือชนิดที่ทางโรงพยาบาลจัดส่งให้หรือชนิดที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นิ้วที่ใช้วัดต้องไม่มีการผิดรูปหรือทาสีเล็บหนามาก และขณะวัดมือและนิ้วต้องอยู่นิ่งไม่แกว่งไปมา 

ปุจฉา: ในกรณีรักษาโรคโควิด-19 ที่บ้านจะมียาต้านไวรัสอะไรบ้าง
วิสัชนา: ในกรณีที่ไม่พบว่าเกิดปอดอักเสบในตอนแรก หรือยังไม่ได้ตรวจเอกซเรย์ปอด การกินยาฟ้าทะลายโจรในรูปแบบและขนาดที่โรงพยาบาลแนะนำ สามารถช่วยลดปริมาณไวรัสลงได้ และอาจช่วยยับยั้งการเกิดปอดอักเสบหรือช่วยลดความรุนแรงของปอดอักเสบ สำหรับคนที่มีโรคตับอยู่ก่อนต้องระมัดระวังการใช้ยาฟ้าทะลายโจรด้วย แต่ถ้าตรวจพบว่าเกิดปอดอักเสบขึ้นแล้วแพทย์จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทดแทน เพราะถ้าให้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันจะเกิดตับอักเสบได้ง่ายขึ้น ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ปลอดภัยเมื่อใช้ในขนาดที่แพทย์แนะนำ ผลข้างเคียงที่พบน้อยมากแต่มีความสำคัญทำให้ต้องหยุดยา คือ ตับอักเสบและหัวใจเต้นผิดจังหวะ สำหรับยาที่ยังอยู่ในช่วงทดลองว่าอาจมีฤทธิ์ลดไวรัสหรือชะลอการอักเสบของปอดได้แต่ยังไม่ได้รับการรับรอง เช่น ไอเวอร์เมคติน หรือ ฟลูวอกซามีน หรือ บูเดโซไนด์ขนิดพ่นสูด ต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้การดูแลใกล้ชิดของแพทย์
สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 (covid-19) ที่กำลังรักษาตัวอยู่วันที่ 29 กรกฏาคม 64 จากการรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 (Covid-19) กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 185,976 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 69,152 ราย อยู่ในโรงพยาบสาลสนาม 116,824 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,511 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 1,001 ราย