ทีดีอาร์ไอ เสนอไทยควรปรับกระบวนทัพจัดหาวัคซีนโควิดใหม่

30 ก.ค. 2564 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 10:38 น.

“ฐานเศรษฐกิจ” นำบทวิเคราะห์บางส่วนซึ่งแสดงถึงสาเหตุที่หลายประเทศจัดหาวัคซีนโควิดได้มากและเร็วกว่า พร้อมเสนอว่าไทยควร ‘สร้าง’ ทีมจัดหาวัคซีนใหม่ที่มีความหลากหลายมากกว่าปัจจุบัน

บทวิเคราะห์ของทีดีอาร์ไอ โดย ดร.สมชัย​ จิตสุชน​ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง​ สถาบัน​วิจัย​เพื่อ​การพัฒ​นาประเทศ​ไทย​ (ทีอีอาร์​ไอ) เเละทีมงาน

มีความน่าสนใจในประเด็น  วัคซีนคือทางออกจากวิกฤติการระบาดโควิด-19 และนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพเพียงพอ ยิ่งคุณภาพสูงเท่าไร (โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อด้วยเพิ่มเติมจากเพียงป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลและป้องกันการตาย) โดยยังปลอดภัยเพียงพอ ก็ยิ่งดีเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีวัคซีนหรือ ‘วัคซีนมาช้า’ ซึ่งในกรณีของไทยดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น

บทวิเคราห์นี้ชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านได้รับวัคซีนบางชนิดที่คนไทยหลายคนเรียกร้อง (วัคซีนไฟเซอร์และโมเดิร์นนา) เร็วกว่าหรือในปริมาณมากกว่าประเทศไทย ในขณะที่ในประเทศไทยมีการอธิบายมาตลอดว่าที่หาวัคซีนดังกล่าวไม่ได้เพราะปริมาณการผลิตของบริษัทมีจำกัด ถูกประเทศร่ำรวยซื้อไปจนหมดแล้ว ไม่เหลือให้ประเทศอื่นเท่าไร (ทำให้ไทยไม่ได้สั่งซื้อวัคซีนกลุ่มนี้ในตอนแรกในขณะที่หลายประเทศสั่งก่อนหน้า) ซึ่งในตอนแรกหลายคนก็ยอมรับคำอธิบายนี้ แต่ในระยะหลังที่ประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงไทยเริ่มได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ด้วยก็น่าจะแสดงถึงจุดอ่อนในกระบวนการจัดหาวัคซีนของไทย

ในความเป็นจริงก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะการจัดหาวัคซีนน่าจะมี ‘เทคนิค’ และ ‘ลูกเล่น’ มากกว่าเพียงการติดต่อและถามตรงๆ กับผู้แทนบริษัทวัคซีนว่า ‘คุณมีวัคซีนพอให้เราจองไหม’ และเมื่อเขาบอกว่าไม่มีทางเราก็ยอมแพ้และเลิกติดต่อ ในขณะที่หากเป็นนักธุรกิจที่ต้องการซื้อสินค้าที่เขาคิดว่าจำเป็นมากก็มักจะสรรหาช่องทางต่างๆ หรือใช้เทคนิคการเจรจาที่หลากหลายเพื่อให้ได้มา นอกจากนี้กรณีวัคซีนยังเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศและระดับโลกด้วย ดังที่ทราบกันดีว่าประเทศมหาอำนาจบางประเทศใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพลของตัวเองด้วย เราก็ควรรู้จักใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้เพื่อให้ได้วัคซีนมามากขึ้นผ่านช่องทางการทูต

ดังนั้นการที่ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญในเจรจาน่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทำไมสั่งน้อยแต่แรก ทำไมแทงม้าตัวเดียว ทำไมที่สัญญาว่าจะได้สุดท้ายได้น้อย ทำไมไม่ให้เอกชนช่วยจัดหา ฯลฯ

พร้อมนำเสนอบทเรียนที่น่าสนใจของบางประเทศที่ขอหยิบยกมาเพียงบางประเทศในบทวิเคราะห์ดังกล่าว

อินโดนีเซีย ใช้การทูตช่วยเจรจาในระดับสูง มีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของคณะเจรจาจัดหาวัคซีน และใช้ประโยชน์ทาง Geopolitics โดยได้รับการบริจาคช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และยังได้เป็น Hub สำหรับผลิต Sinovac ในภูมิภาค

มาเลเซีย ผู้รับผิดชอบจัดหาวัคซีนคือ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นการแบ่งงานออกจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังเชื่อมโยงกันทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น รัฐมนตรีคนนี้มีศักยภาพ เห็นได้จาก

(1) สามารถจัดประชุมเพื่อจัดหาวัคซีนร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตั้งแต่ เดือนเมษายน 2563 ก่อนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีน (JKJAV) อย่างเป็นทางการ

(2) การสั่งวัคซีนได้รวดเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น โดยสั่งวัคซีนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 และ

(3) สื่อสารกับประชาชนตลอดเวลา เช่น ชี้แจงว่าทำไมมาเลเซียถึงฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน (สิงคโปร์ หรือ อินโดนีเซีย) หรือ แถลงแผนการกระจายวัคซีนที่ชัดเจน

สิงคโปร์ ถือว่าเป็นประเทศที่สามารถจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย โดยเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดหาวัคซีนเชิงรุกอย่างแท้จริง โดยเริ่มจัดหาวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ผ่านความร่วมมือของ TxVax Panel จัดตั้งโดย Economic Development Board (คล้ายสภาพัฒน์ฯ) นำโดยภาคเอกชน นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ศึกษาและคัดเลือกวัคซีนที่น่าสนใจ ก่อนจะส่งต่อให้ Planning Committee (ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานและราชการที่เกี่ยวข้อง) เป็นผู้ลงความเห็นว่าควรสั่งซื้อวัคซีนชนิดใด ถือเป็นการทำงานแบบ two-track (ในขณะที่ไทยทำแบบ one-track) สิงคโปร์ตัดสินใจลงนามสั่งซื้อวัคซีนเร็วมากคือ สั่งซื้อ Moderna เดือนมิถุนายน 2563 Pfizer และ Sinovac ในเดือนสิงหาคม 2563 แต่ที่สำคัญคือ สิงคโปร์ไม่มีข้อจำกัดจากกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้สามารถสั่งจองวัคซีนที่อาจยังไม่ประสบความสำเร็จ และแม้จะยังไม่ได้รับการรับรองจาก Health Science Authority (คล้าย อย. ของไทย) เป็นการทำสัญญาสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าไว้เป็นหลักประกัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิงคโปร์จะได้รับวัคซีนในปริมาณที่มากและรวดเร็ว

ทีดีอาร์ไอ เสนอไทยควรปรับกระบวนทัพจัดหาวัคซีนโควิดใหม่

TDRI ได้เสนอแนะสำหรับประเทศไทย ควรใช้บทเรียนจากประสบการณ์ต่างประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นในการปรับกระบวนทัพการจัดหาวัคซีน ดังนี้

  • ‘สร้าง’ ทีมจัดหาวัคซีนใหม่ที่มีความหลากหลายมากกว่าปัจจุบันที่เป็นเพียงแพทย์เท่านั้น โดยควรมีทั้งกระทรวงต่างประเทศ ทูต บุคคลากรสาธารณสุข โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่นกระทรวงต่างประเทศสามารถมีส่วนร่วมเต็มตัวไม่ใช่ทำหน้าที่แบบ ‘งานฝาก’ เหมือนทุกวันนี้
  • หรือ ‘เสริม’ ทีมจัดหาวัคซีนปัจจุบัน (ระบบ two-tracks แบบสิงคโปร์) ให้มีความหลากหลายมากขึ้นดังกล่าวข้างต้น
  • ทีมจัดหาวัคซีนต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ไม่ติดระบบราชการมากเกินไป
  • การซื้อวัคซีนไม่จำเป็นต้องซื้อจากบริษัทเสมอไป แต่อาจขอซื้อจากประเทศที่จองไปแล้วแต่เหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะจองมากเกินแต่ประชาชนเขาไม่อยากฉีดยี่ห้อที่จอง
  • นอกจากการหาซื้อวัคซีนที่ผลิตสำเร็จแล้ว ยังควรทำการจองวัคซีนที่ใกล้ประสบความสำเร็จแต่ยังไม่ผ่านการรับรอง โดยต้องสื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงความเสี่ยงที่อาจสูญเงินจองถ้าวัคซีนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ วิธีนี้จะทำให้คิวจองของเราไม่ยาวเกินไปอาจทำการ ‘แลกเปลี่ยน’ วัคซีนที่บางประเทศเหลือฉีดโดยขอยืมมาก่อนแล้วอาจซื้อคืนให้ทีหลัง (โดยใช้โควตาการซื้อที่เรามีอยู่แต่ได้มาช้า)
  • ใช้กลวิธีทางการทูตทุกลักษณะและในเชิงรุก ในการขอซื้อหรือขอรับบริจาคจากมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับไทย

ที่มา : TDRI