รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร ประธานคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การสร้างและพัฒนา Application ผ่านระบบออนไลน์ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และรักษาราชการแทนอธิการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล การทำการเกษตรแบบอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IOT การพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยและการเข้าถึงการรักษา ภายใต้ชื่อ “RMUTI NEXT GEN DIGITAL UNIVERSITY”
นโยบายการขับเคลื่อนดังกล่าว มาจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานที่ประชุมนายกสภา 9 มทร. และนายกสภา มทร.อีสาน เพื่อผนึกกำลังด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อปฏิรูปและปรับปรุงระบบการศึกษา ควบคู่กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมความยั่งยืนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนทั้งบุคลากร และนักศึกษาทั้ง 9 มทร.
ผลจากการประชุมนายกสภา 9 มทร. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบร่วมกันให้ดำเนินการและแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การสร้างและพัฒนา Application ผ่านระบบออนไลน์ 9 มทร. และมีมติให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ร่วมกันดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร การสร้างและพัฒนา Mobile Application ผ่านห้องฝึกอบรมออนไลน์ ภายใต้หลักสูตรพัฒนาฝีมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน
รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Reskill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศไทยพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาด้านดิจิทัลให้บุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่าให้แข็งแกร่ง เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) โดยให้ มทร.อีสาน เป็นเจ้าภาพหลักในคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การสร้างและพัฒนา Application ผ่านระบบออนไลน์ 9 มทร.
ส่วนรูปแบบการอบรม จะเริ่มตั้งแต่การฝึกความคิดริเริ่มของผู้ฝึกสอนตั้งแต่ต้นและขยายไปสู่วงกว้าง หลักสูตรนี้จะเป็นการจัดคอร์สสอน 4 วันที่เป็นช่วงของวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นการสอนผ่านระบบ Huawei Mobile Services ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและเผยแพร่แอปพลิเคชันทั้งด้านทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติ ตัวอย่างการอ่านโค้ดและลงมือปฏิบัติงานที่มอบหมาย โดยจะมีวิดีโอการฝึกอบรมไลบรารี่ให้ดูเป็นแนวทางซึ่งเป็นเนื้อหาฟรี ครอบคลุมพื้นฐานของ Android รวมถึง แอปพลิเคชั่นตัวอย่างต่างๆ ของหัวเว่ย มากกว่า 18 หมวดที่ครอบคลุมไปถึงเกม การศึกษา ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น ภายหลังการอบรมและการสอบ ผู้อบรมจะได้ใบรับรองหัวเว่ย ประเทศไทย อีกด้วย
มทร.อีสาน มุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เกิดเอกลักษณ์ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งการสร้างอาชีพเฉพาะทาง" พร้อมการพัฒนาทั้งด้านกำลังคนและเทคโนโลยีเพื่อให้ นักศึกษา คณาจารย์ ทั้ง 9 มทร. มีความรู้ความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง เพื่อเป็นตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีระดับประเทศ พร้อมมุ่งให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดแก่นักศึกษา และสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ