ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันที่ 2 ส.ค.64 ถึงคลัสเตอร์โควิดวันนี้ว่า พบคลัสเตอร์ใหม่ 7 แห่ง อยู่ใน กระจายอยู่ใน 6 จังหวัด พบติดเชื้อ 330 ราย ดังนี้
ด้านสถานการณ์ในประเทศวันนี้(2 ส.ค.64) มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 17,970 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 13,567 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 4,217 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 175 ราย มาจากต่างประเทศ 11 ราย
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสม(ตั้งแต่ปี 63) ล่าสุดอยู่ที่ 633,284 ราย รักษาหายเพิ่ม 13,919 ราย ผู้ป่วยรักษาหายแล้ว(ตั้งแต่ปี 63)รวม 419,241 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 208,875 ราย อาการหนัก 4,768 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,028 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 178 ราย ผู้เสียชีวิต(ตั้งแต่ปี 63)สะสม 5,168 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวถึง มาตรการป้องกันและควบคุมโรคในสถานประกอบการจะใช้วิธี Bubble and Seal จะใช้กับสถานประกอบการที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อด้วย และต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวดด้วย ซึ่งวิธี Bubble and Seal จะยังทำให้โรงงานสามารถเปิดกิจการได้อย่างมีเงื่อนไข เช่น หากโรงงานมีหลายฝ่าย จะต้องมีการจัดกลุ่มบุคลลากรฝ่ายต่างๆไม่ให้มาปะปนกัน ต้องมีการแยกการรับประทาน
ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข มีเป็นห่วงบางบริษัทดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal ได้ลำบาก ขอให้ทางบริษัทขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด สภาหอการค้าจังหวัด รวมถึงการจัดหาที่พักให้คนงาน ต้องมีการจัดเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อไม่ให้เดินทางไปยังพื้นที่ชุมชน
ทั้งนี้ สำหรับการขนส่งก๊าซทางการแพทย์ ที่ประชุมศบค. มีมติอนุญาตยกเว้น ข้อบังคับกรณีที่ห้ามรถขนส่ง 6 ล้อที่ขนส่งก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ใช้ทางพิเศษ ที่ไม่สามารถขึ้นทางด่วนได้ และห้ามใช้ทางด่วนในช่วงเวลา 5.00-9.00 น. และช่วงเวลา 15.00-21.00 น. ให้สามารถดำเนินการได้
ขยายล็อกดาวน์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.นี้
ส่วนการระยะเวลาขยายล็อกดาวน์ออกไปเบื้องต้น 14 วัน ซึ่งในข้อกำหนดฉบับที่ 30 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.นี้ แต่ทางศบค.จะมีประชุมติดตามผลการปฏิบัติตามมาตรการในระยะ 2 สัปดาห์ และประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 18 ส.ค.และหากไปในทิศทางที่ดีข้อกำหนดอาจผ่อนคลายได้ แต่กรณีสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจยืดไปถึง 31 ส.ค.
ยืนยันตัวเลขวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯตรงกับต้นทาง
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์(Pfizer) ที่สหรัฐอเมริกาส่งมา ในตอนแรกที่เป็นข่าว ไทยได้รับวัคซีน 1.54 ล้านโดส แต่ในแง่ของการจัดการ ประเทศไทยได้รับจริงในวันที่ 30 ก.ค.64 จำนวน 1,503,450 โดส โดยได้ยืนยันตัวเลขกับทางสหรัฐอเมริกาแล้วตัวเลขตรงกัน นอกจากในส่วนของการจัดสรรที่ทางบริษัท Pfizer ระบุให้เป็นการกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว
ในแง่ของการกระจายก็จะมีการจัดสรรไปที่กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และบวกอีก 1 กลุ่มคือชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยโดยเน้นไปที่ผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทางกระทรวงต่างประเทศเน้นย้ำว่าก่อนที่จะได้รับวัคซีน Pfizer ประเทศไทยได้มีการฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โดยตัวเลขชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว ประมาณ 2 แสนคน