ศบค. ยันใช้มาตรการซื้ออาหารร้านในห้างต้อง "เดลิเวอรี่" เท่านั้น

04 ส.ค. 2564 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 16:42 น.

ที่ประชุม ศปก.ศบค.มีมติคงมาตรการให้ปชช.สั่งเดลิเวอรี่ซื้ออาหารในห้างเท่านั้น ตามคำสั่งกรมอนามัย พร้อมเสนอวางจำหน่าย อาหาร - เครื่องดื่มในซูเปอร์มาร์เก็ต

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง ศบค. ทบทวนมาตรการการอนุญาตเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า แต่ห้ามบุคคลทั่วไปซื้อกลับบ้าน (Takeaway) 

 

อาจเป็นการซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการมากกว่าการช่วยเหลือ รวมถึงไม่ได้อำนวยความสะดวกแต่อย่างใด เพราะประชาชนต้องจ่ายค่าขนส่งเพิ่มเติม ต้องเสียเวลารอคอย ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับค่า GP (Gross Profit)

 

ล่าสุดในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.เล็ก วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ประชุมยังคงมาตรการสำหรับร้านอาหาร-เครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สถานประกอบการกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

 

โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหาร หรือเครื่องดื่ม ผ่านบริการขนส่งอาหาร หรือ Food delivery service ทั้งในระบบออนไลน์ ระบบโทรศัพท์ หรือระบบบริการช่วยเหลือของร้านอาหาร/เครื่องดื่มในการจัดส่งที่ไม่ให้ผู้บริโภคสัมผัสติดต่อใกล้ชิดกับร้านอาหารเครื่องดื่มโดยตรงเพื่อหลีกเลี่ยงการแออัดในบริเวณร้านอาหารและร้านเครื่องดื่ม และเปิดได้ไม่เกิน 20:00 น.

โดยให้ผู้จัดการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในสถานที่ข้างต้น จัดเตรียมพื้นที่เพิ่มเติมภายในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดจนเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด สำหรับร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถให้บริการในการนำส่งอาหาร-เครื่องดื่มมาวางจำหน่าย ในพื้นที่จัดเตรียมไว้ภายในบริเวณซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานที่เหมาะสม ที่ให้ผู้จัดการ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดเป็นพื้นที่รอคิว มีบริเวณพักคอยที่เว้นระยะห่างที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันยังคงเน้นย้ำแนวทางเดียวกันกับที่เคยดำเนินการในห้วงเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ศปก.ศบค. เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามที่กรมอนามัยได้ชี้แจงเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.ผ่านมา คือไม่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายและผู้บริโภคซึ่งอาจไปแออัดและออบริเวณหน้าร้านจำนวนหลายคน โดยต้องดำเนินการภายในเงื่อนไข เวลา และการจัดระบบระเบียบ ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด