นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง ศบค. ทบทวนมาตรการการอนุญาตเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า แต่ห้ามบุคคลทั่วไปซื้อกลับบ้าน (Takeaway) เพราะหวั่นซ้ำเติมประชาชนและไม่ได้ช่วยลดการแพร่เชื้ออย่างแท้จริง
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวว่า ขอบคุณ ศบค. ที่กรุณาปรับมาตรการให้ร้านอาหารในห้างกลับมาเปิดบริการได้ ตามที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัยได้เรียกร้องมาโดยตลอด แต่การไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปซื้ออาหารกลับบ้านได้ด้วยตนเอง และต้องสั่งผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เท่านั้น อาจเป็นการซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการมากกว่าการช่วยเหลือ รวมถึงไม่ได้อำนวยความสะดวกแต่อย่างใด เพราะประชาชนต้องจ่ายค่าขนส่งเพิ่มเติม ต้องเสียเวลารอคอย ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับค่า GP (Gross Profit) แทนที่จะสามารถขายอาหารราคาปกติให้ลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านเองได้
มาตรการดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจ และปากท้องของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังอาจไม่ใช่วิธีที่ดีในการลดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย เนื่องจากไม่มีงานวิจัยใดที่ยืนยันว่าการซื้ออาหารในห้างแบบ Takeaway เป็นต้นตอของการแพร่เชื้อ และถึงอย่างไรคนก็จะไปแออัดในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ดี และอาจจะไปเพิ่มความแออัดให้ร้านอาหารระหว่างรออาหารสั่งอาหารผ่านแอพ
“แนวคิดฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นเรื่องที่ดี แต่การคิดมาตรการในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าศบค. รับฟังเสียงของผู้ประกอบการและประชาชนที่เดือดร้อนอย่างจริงจัง และมีตัวแทนของกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในทีมงานศบค. เพื่อทำการตัดสินใจร่วมกัน และทำให้มาตรการต่าง ๆ แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น” นายปริญญ์กล่าว
ทั้งนี้ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. เป็นห่วงปากท้องของพี่น้องประชาชนในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และอยากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน จึงอยากเรียกร้องให้ ศบค. ทบทวนมาตรการอนุญาตเปิดร้านอาหารในห้างโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดการแพร่เชื้อในประเทศ และช่วยเหลือประชาชนให้ตรงจุด ไม่ใช่ซ้ำเติม ดังที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “พาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน” ที่มีการลดค่า GP ให้กับร้านอาหารจาก 35% เหลือ 25% และการนำสินค้ามาจัดโปรโมชั่นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างลาซาด้าและช้อปปี้
“จะควบคุมการติดเชื้อ แต่มาตรการที่ออกมากลับสร้างความแออัด ผู้บริโภคบางคนไปที่ห้างสรรพสินค้าอาจต้องการซื้ออาหารกลับมาบริโภคที่บ้าน แต่ไม่สามารถสั่งแบบ Takeaway ต้องรอสั่งผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เท่านั้น จะยิ่งเป็นการเพิ่มเวลาที่ต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสร้างความแออัดโดยไม่จำเป็น จึงขอให้ศบค.ทบทวนมาตรการ และคิดให้ครบก่อนออกมาตรการใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม” นางดรุณวรรณ กล่าว