นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเร่งให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ “เคอร์ฟิว และ “ล็อกดาวน์” ของรัฐในพื้นที่ 10 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ใน 9 ประเภทกิจการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบทำให้ว่างงาน จะได้รับเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ หรือต้องกักตัวกรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกินคราวละ 90 วัน
นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรียังได้ อนุมัติมาตรการเยียวยา ให้ ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ ได้รับเงินเยียวยาอีกคนละ 2,500 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินรอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 4-6 สิงหาคม 2564 วันละ 1 ล้านคน โดยโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนผู้ประกันตนมาตรา 33 ไปแล้ว จำนวน 2,434,182 บัญชี มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินโอนคนละ 2,500 บาท จำนวน 2,227,900 คน คิดเป็น 92%
ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกจำนวน 206,282 คน ที่โอนไม่สำเร็จ เนื่องจากสาเหตุผู้ประกันตนยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน จำนวน 190,354 คน คิดเป็น 92% บัญชีปิดจำนวน 9,613 คน คิดเป็น 7% ผูกพร้อมเพย์กับเบอร์โทรศัพท์และสาเหตุอื่น ๆ อีก 3% จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในรอบแรก
โฆษกสำนักงานประกันสังคมแจ้งว่า ขอให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 กลุ่มตกหล่นในรอบแรกนี้ รีบดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตนเองเป็นการด่วน โดยสำนักงานประกันสังคมนำข้อมูลของผู้ประกันตนขึ้นระบบ www.sso.go.th เพื่อให้ผู้ประกันตนกลุ่มตกหล่นสามารถตรวจสอบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มที่โอนเข้าบัญชีไม่ได้ เพราะสาเหตุใด และวิธีดำเนินการแก้ไข ในที่ 7 สิงหาคม 2564 พร้อมย้ำไปยังผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธิจะต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยเลขที่ประจำตัวประชาชนกับธนาคารให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 นี้
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะทำการโอนเงินให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 กลุ่มที่ตกหล่นในวันที่ 13 สิงหาคม 2564
อย่างไรก็ตาม ในส่วนกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ตกหล่นคือกลุ่มที่เข้าเงื่อนไข คือ ทำงานอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด และสถานประกอบการเข้าข่ายที่ได้รับผลกระทบใน 9 ประเภทกิจการ แล้วไม่ได้รับเงินเยียวยา สามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ที่รับผิดชอบสถานประกอบการ เพื่อยื่นทบทวนสิทธิได้ทันที หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง