"โควิดสายพันธุ์เดลตา" มีโอกาสติดเชื้อซ้ำสูงกว่าอัลฟาถึง 46%

11 ส.ค. 2564 | 01:14 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 13:48 น.

หมอธีระเผยข้อมูลพบโควิดสายพันธุ์เดลตามีโอกาสติดเชื้อซ้ำสูงกว่าอัลฟาถึง 46% ระบุปัจจุบันระบาดแล้ว 142 ประเทศทั่วโลกและในประเทศไทย

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 11 สิงหาคม 2564 ทะลุ 204 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 589,901 คน รวมแล้วตอนนี้ 204,703,637 คน ตายเพิ่มอีก 9,639 คน ยอดตายรวม 4,325,459 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อเมริกา อิหร่าน อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย 
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 93,581 คน รวม 36,880,543 คน ตายเพิ่ม 617 คน ยอดเสียชีวิตรวม 634,608 คน อัตราตาย 1.7% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 36,316 คน รวม 32,033,333 คน ตายเพิ่ม 468 คน ยอดเสียชีวิตรวม 429,183 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 34,499 คน รวม 20,212,642 คน ตายเพิ่ม 1,066 คน ยอดเสียชีวิตรวม 564,773 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,378 คน รวม 6,491,288 คน ตายเพิ่ม 792 คน ยอดเสียชีวิตรวม 166,442 คน อัตราตาย 2.6% 
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 28,576 คน ยอดรวม 6,339,509 คน ตายเพิ่ม 68 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,356 คน อัตราตาย 1.8%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 86.14 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน 
ส่วนเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง 
กัมพูชา จีน ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ไต้หวัน และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
อัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์จากองค์การอนามัยโลก ล่าสุด 10 สิงหาคม 2021 มีเรื่องที่น่ารู้หลายเรื่อง
ความรู้ข้อที่ 1: "โอกาสที่ทำให้ติดเชื้อซ้ำ"
มีรายงานจากการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า สายพันธุ์เดลตาจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา ถึง 46%
ประโยชน์จากความรู้นี้คือ คนที่เคยติดเชื้อไปแล้วนั้นจำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเช่นกัน และควรได้รับวัคซีน
ความรู้ข้อที่ 2: "เดลตาทำให้ปริมาณไวรัสมากกว่าเดิม"
การศึกษาจากทั้งจีนและสหราชอาณาจักร พบหลักฐานที่สอดคล้องกันคือ การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ไวรัสในตัวผู้ติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมกว่า 1,000 เท่า ซึ่งบ่งถึงการแบ่งตัวที่ไว และง่ายต่อการแพร่เชื้อติดเชื้อ
ประโยชน์จากความรู้นี้คือ นี่ไม่ใช่ไวรัสกระจอกนะหนู หากมาตรการควบคุมโรคไม่เข้มข้นพอ คงยากที่จะตัดวงจรการระบาด
ความรู้ข้อที่ 3: "คุณสมบัติของไวรัสกลายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์" 

คุณสมบัติไวรัสกลายพันธุ์
ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า หากเปรียบเทียบระหว่างอัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลตา พบว่าเดลต้าน่าเป็นห่วงที่สุด
เพราะติดง่ายขึ้น (transmissibility) แพร่ง่ายขึ้น/มากขึ้น (secondary attack rate) ไม่ว่าจะเป็นคนที่ได้หรือไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อได้พอๆ กัน นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นชัดเจน ทำให้มีโอกาสป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น รวมถึงมีความดื้อต่อระดับแอนติบอดี้จากวัคซีนด้วย

ประโยชน์จากความรู้นี้คือ ทำให้เรามาประเมินสถานการณ์ของเราได้ว่า ด้วยการระบาดที่เผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่มีทางที่จะจบลงได้เร็วด้วยมาตรการที่มีอยู่ เพราะการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถทำให้คนหยุดนิ่งได้จริงและทำเพียงเฉพาะบางพื้นที่ ระบบการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอ จำนวนการตรวจทำได้น้อยและไม่ครอบคลุมต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน เงิน ของ เครื่องไม้เครื่องมือ หยูกยา เตียง และวัคซีนมีข้อจำกัดทั้งเชิงปริมาณและประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปิดเกาะเปิดท่องเที่ยวและจะเปิดประเทศ
ตอนนี้เดลตาระบาดไปทั่วโลก มากถึง 142 ประเทศแล้ว รวมถึงไทยเรา
อย่างที่วิเคราะห์ไปวันก่อน ด้วยปัญหาจากลักษณะการตรวจคัดกรองโรคของไทยตอนนี้ น่าจะเห็นตัวเลขอั้นๆ อยู่ได้แค่ชั่วขณะ อันเป็นผลจาก ATK แล้วจะมีโอกาสที่จะกระโดดสูงอย่างทันทีทันใดได้ โดยอาจมาพร้อมกับจำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือวิกฤติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้ และเตรียมพร้อมรับมือให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเมืองในแต่ละจังหวัด และจังหวัดที่มีทรัพยากรจำกัด
นโยบายและมาตรการที่ดี ยืนบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ปราศจากกิเลสและอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจ ย่อมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในการต่อสู้ที่มีโอกาสสำเร็จ ควบคุมโรคได้ ประชาชนในสังคมจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ดังที่เห็นในหลายประเทศทั่วโลก
แต่หากผิดทิศผิดทาง ผลลัพธ์ย่อมนำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งจำนวนติดเชื้อมากมาย จำนวนผู้เสียชีวิตแบบใบไม้ร่วง ความล้มละลายของธุรกิจเล็กกลางใหญ่ และผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจำเป็นที่ทุกคนในสังคมนั้นต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแสดงความรับผิดชอบจากคน กลุ่มคน ที่อยู่ในวงนโยบายและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมโรค การจัดซื้อจัดหายา วัคซีน และอื่นๆ 
เพราะเชื้อโรคอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดหายนะ ปัจจัยหลักที่จะกำหนดความรุนแรงของหายนะคือ การบริหารจัดการนโยบาย
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มีกำลังใจป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตัวเราและครอบครัวไม่ติดเชื้อ ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย จากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 21,038 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,865 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 173 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 788,126 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 207 ราย หายป่วยกลับบ้าน 22,012 ราย กำลังรักษา 210,042 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 572,726 ราย