"เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมากในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิดรุนแรงมากขึ้น แต่ในท้องตลาดนั้นมีหลายราคา ถูกบ้างแพงบ้าง คำถามที่ตามมาคือเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าควรซื้อแบบไหน ที่มีความแม่นยำ
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเตือนภัย
หลังมีประชาชนจำนวนมาก หาซื้อเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนจากเส้นเลือดที่ปลายนิ้ว โดยหวังช่วยสังเกตอาการป่วยโควิด-19 หลายคนซื้อเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนจากเส้นเลือดที่ปลายนิ้ว หรือ oxygen meter โดยไปซื้อของถูกๆตามออนไลน์ตัวละ 100 กว่าบาทมาใช้ ซึ่งไม่ควรซื้อเด็ดขาด
ถ้าจะเลือกซื้อควรเลือกยี่ห้อที่เป็นที่นิยมใช้ในระดับโรงพยาบาลหรือคลีนิคขึ้นไป ส่วนใหญ่ราคาก็อยู่ประมาณพันกว่าบาท
บัญชีรายชื่อที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ได้รับการอนุญาตให้ผลิต หรือนำเข้า 52 ราย
การทำงาน "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว"
ตัวเครื่องจะปล่อยคลื่นแสงออกมา ไปกระทบกับเส้นเลือดฝอยที่ปลายนิ้วมือ แล้วจะวัดแสงสะท้อนที่ได้ออกมา แสงสะท้อนดังกล่าวจะเป็นตัวบอกว่าในเส้นเลือดของร่างกายมีปริมาณออกซิเจนอยู่มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความถี่ของแสงสะท้อน ที่สะท้อนกลับมาให้ตัวเครื่องวัดค่าได้
ประโยชน์ของเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
เพื่อต้องการดูว่าผู้ป่วยโควิดมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำหรือไม่ ซึ่งมีประโยชน์มากในกรณีที่ป่วยเป็นโควิด เนื่องจากเมื่อป่วยโควิดแล้ว ผู้ป่วยมักจะเกิดภาวะหนึ่งที่เรียกว่า "Happy Hypoxia" หมายความว่า คนไข้มีภาวะออกซิเจนต่ำแต่กลับดูปกติสบายดี ตรงข้ามกับการป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่หากผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำขนาดนี้ ร่างกายจะแย่ลงทันทีอย่างเห็นได้ชัด
วิธีการตรวจวัดที่ถูกต้อง
ตรวจวัดที่นิ้วมือที่ไม่ได้ทาเล็บ เพราะสีทาเล็บอาจจะทำให้วัดค่าได้ผิดเพื้ยนไป ต้องล้างเล็บก่อนตรวจวัด
ตรวจขณะที่มืออุ่น ถ้ามือเย็นจะวัดค่าออกซิเจนได้ต่ำลง ดังนั้นก่อนตรวจต้องทำให้มืออุ่นก่อนเสมอ
ตรวจวัดให้หายใจลึกๆ เข้าออก 2-3 ครั้ง วางมือนิ่งและรอผลแสดงที่หน้าจอ
สลับนิ้วและตรวจวัดซ้ำๆ ด้วย เพื่อผลที่แม่นยำมากขึ้น
เมื่อผลตรวจโชว์ที่หน้าจอ ต้องเห็นว่าระบุทั้งค่าออกซิเจน และค่าชีพจร ให้สังเกตจุดแสดงผลค่าชีพจรต้องเคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา เพื่อแสดงว่าเครื่องมือใช้ได้ปกติ