วันนี้( 13 ส.ค.64) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการกฤษฎีกา ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Borwornsak Uwanno ระบุว่า
“ผมไม่เคยเขียนเฟซบุ๊คยาวๆ แต่วันนี้ต้องทำเพื่อให้คิดกันดีๆ ให้รอบด้าน ก่อนที่จะตัดสินใจทำตามที่บางคนเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจตามพรบ.ความมั่นคงทางวัคซีนฯมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (2) และวรรค 2 สั่งกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน Astra (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า)
ผมพยายามส่งสัญญาณให้คนรอบข้างผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า หัวหน้ารัฐบาล และรมว.สธ. ควรทำ 2 เรื่องเท่านั้นในเวลานี้ คือ หาวัคซีนมาฉีดให้มากที่สุด และเตรียมการเรื่อง post COVID recovery ให้พร้อม เมื่อโรคระบาดผ่านไปเราจะได้ฟื้นตัวเร็วที่สุด แต่คงไม่ไปถึงผู้มีอำนาจ วันนี้เราจึงเผชิญกับสภาพการระบาดหนักเช่นนี้ ก่อนจะตัดสินใจบริหารตามเสียงด่าอย่างที่เป็นมา ขอได้โปรดพิจารณาข้อดีข้อเสียของการทำตามข้อเสนอนั้นอย่างรอบคอบ
ถ้าห้ามหรือจำกัดการส่งออก Astra ข้อดีก็คือ
1) เราอาจมีวัคซีนฉีดเพิ่มขึ้น
2) คนป่วยอาการหนักอาจน้อยลง แต่การระบาดจะลดลง หรือ หมดไปยังไม่รู้แน่ เพราะหลายประเทศที่ฉีดเกินครึ่งประชากร ก็กลับมาติดใหม่มากมาย เช่น อิสราเอล อังกฤษ
3) หมอและบุคคลากรการแพทย์คงเบาแรงลง
4) ห้องไอซียู เตียง เครื่องช่วยหายใจคงเพิ่มขึ้น
แต่ข้อเสียก็มีมากไม่แพ้กันคือ รัฐบาลอาจต้องรับผิดหลายด้านเพิ่มจากความรับผิดทางสังคมที่ถูกกระหน่ำด่าอยู่ในโซเชียล และความรับผิดทางการเมืองในสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ
1) ความรับผิดทางหลักศาสนาที่ยึด “สัจจะ” เป็นคุณธรรมสำคัญ เพราะรัฐบาลไปทำสัญญากับสยามไบโอไซเอนซ์ผิดพลาดเองโดยสั่งวัคซีนน้อยกว่าที่ควร บัดนี้จะมาใช้อำนาจฝ่ายเดียวที่รัฐบาลมีบังคับเขาแทน ภาษาหยาบหน่อยก็เรียกว่า “ตระบัดสัตย์”
2) ความรับผิดในแง่รัฐธรรมนูญ รัฐบาลกำลังละเมิดหลักนิติธรรมตาม มาตรา 3วรรค 2 และมาตรา 26 และละเมิดหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 53 ที่กำหนดให้ “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” เพราะแทนที่จะเคารพกฎหมายเกี่ยวกับสัญญา รัฐกลับละเมิดสัญญาเสียเอง อันถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
3) ความรับผิดทางกฎหมายปกครอง เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจฝ่ายเดียวไปกระทบสัญญาทำให้เอกชนเสียหายที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “fait du prince” หรือ ทฤษฎี การกระทำของเจ้าผู้ปกครอง รัฐบาลทำได้ก็จริง แต่สยามไบโอไซเอนส์ได้รับความเสียหาย เพราะส่งมอบวัคซีนให้คู่สัญญาในต่างประเทศไม่ได้ ถูกคู่สัญญานั้นเรียกค่าเสียหายเท่าใด รัฐบาลไทยก็ต้องถูกศาลปกครองพิพากษาให้ใช้ค่าเสียหายนั้น ให้บริษัทเต็มจำนวน ซึ่งไม่รู้จำนวนค่าเสียหายจริงเวลานี้อาจเป็นพันล้าน หมื่นล้านบาทก็ได้
4) ความรับผิดระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยไม่ให้ส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ ที่มาทำสัญญากับบริษัทไปแล้ว ประเทศเหล่านั้นเขาเดือดร้อน เราก็จะเป็นแกะดำตัวใหญ่ในอาเซียน และในวงการระหว่างประเทศ
5) ความน่าเชื่อถือในประเทศไทยในการลงทุนที่พยายามทำกันมาแทบตาย เพื่อขยับฐานะใน ease of doing business ก็ดี ใน governance indicator ของ world bank ก็ดี indicator of competitiveness ของ Mdi ก็ดี จะหายวับไป เพราะไม่รักษาสัญญา ไม่มีสัจจะ ไม่น่าลงทุน
6) ต่อไปสยามไบโอฯ ไปทำสัญญากับใคร ก็ไม่มีใครอยากคบค้าด้วย เพราะทำแล้ว รักษาสัญญาไม่ได้
ทั้งหมดนี้คือข้อดีข้อเสีย ท่านที่มีอำนาจ และท่านที่คิดจะเสนออะไรอีก กรุณาเอาไปตั้งสติ ตรึก และ ตรอง ให้รอบคอบ รอบด้าน นะครับ
เมื่อคิดดีแล้ว จะตัดสินใจอย่างไร ก็ไม่ว่า แต่ต้องรับผิดชอบ ในผลการตัดสินใจกระทำนั้นนะครับ
ขอบพระคุณมากที่ทนอ่านยาวๆ”