ผู้สื่อข่าวรายงาน นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว @นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์ ถึงโรคโควิดแบบลากยาว (Long Covid) โดยได้ตอบคำถามชายคนหนึ่ง ที่ถามถึงอาการตัวเอง โดยเล่าว่า ตัวเองอายุ 55 ไม่เคยฉีดวัคซีน ติดโรคโควิด นอน hospitel 14 วันแล้วกลับบ้านมาได้ 13 วันแล้ว อาการไอค่อยๆ ลดลง แต่พอเริ่มเดินออกกำลังกายตอนเย็น ตกกลางคืนก็มีไข้วัดได้ 37.4 พอเช้าก็หายไป แต่จะมีอาการอ่อนเปลี้ยราวกับจะเป็นอัมพาต ทดลองหยุดออกกำลังกาย พอค่อยยังชั่วก็ออกอีกก็เป็นอีก อาการอ่อนเปลี้ยไม่สบายรอบหลังนี้เป็นนานสี่ห้าวัน ขณะที่ไข้มีทุกคืน เป็นไปได้ไหมว่าติดเชื้อโควิดซ้ำสอง จะมีวิธีตรวจได้ไหมครับ ไปหาหมอคลินิกหมอให้ยาปฏิชีวนะมากินป้องกันติดเชื้อในปอด กินสองสามวันแล้วอาการไม่เห็นดีขึ้นเลย ควรดูแลตัวเองอย่างไร
นพ.สันต์ ตอบพร้อมอธิบายว่า อาการนี้ คือ โรคโควิดแบบลากยาว (Long covid) ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผลตามหลังเฉียบพลันของการติดเชื้อซาร์สโควี2” (post-acute sequelae of SARS-CoV-2 infection – PASC)
Long covid นิยามว่าคือโรคโควิดที่อาการป่วยยังคงมีอยู่แม้จะพ้น 3-4 สัปดาห์หลังติดเชื้อไปแล้ว อาการอาจคงอยู่ไปจนถึงหลายเดือนหลังการติดเชื้อ ซึ่งโควิดลากยาวนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนยังประเมินยากได้เพราะบางรายงานบอกว่าเกิดได้ 5% แต่บางรายงานบอกว่าเกิดได้ถึง 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ที่แน่ๆคือเป็นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่มีสเปคที่จะบอกล่วงหน้าได้ว่าคนแบบไหนจะแจ๊คพ็อตเป็นโควิดแบบลากยาวมากกว่าคนแบบไหน
สาเหตุของโรคโควิดแบบลากยาว
โรคโควิดแบบลากยาวจริงๆ แล้วอาจเป็นเข่งรวมของหลายๆ โรคก็ได้ เช่น
มีอาการประหลาดๆ ได้ทุกชนิด แต่อาการยอดนิยมได้แก่หอบเหนื่อยหายใจลำบาก เปลี้ยล้า หมอกลงสมอง (brain fog) ไอ เจ็บหน้าอก ปวดหัว ใจสั่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เหน็บชา ปวดท้อง ท้องร่วง นอนไม่หลับ เป็นไข้ โหวงเหวง (lightheadedness) ผื่นผิวหนัง ทำกิจวัตรไม่ได้ จมูกไม่ได้กลิ่น ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น
ส่วนอาการที่ผู้สอบถามเป็น เรียกว่าอาการเปลี้ยหลังออกกำลังกาย (post exercise maliase – PEM) ซึ่งเป็นคำที่บัญญัติขึ้นเมื่อมีโรคโควิด-19 เกิดขึ้นนี่เอง กล่าวคือออกกำลังกายสลึงเดียวแต่เหนื่อยร้อยบาท บางครั้งออกกำลังกายเบาๆ ครั้งเดียวแต่เหนื่อยไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวไปถึงเจ็ดวัน คือมันเหนื่อยเกินระดับสำออยหรือขี้เกียจ
วงการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาโควิดแบบลากยาว มีการทดลองสารพัด แต่ไม่มีวิธีไหนได้ผล ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกขณะนี้ คือ ให้คนป่วยกลับไปให้แพทย์ประจำครอบครัวดูแล รักษาตามอาการ ถ้าจะมีข่าวดีบ้างก็คืองานวิจัยพบว่าการจับผู้ป่วยเข้าโปรแกรมฟื้นฟูอย่างเป็นกิจจะลักษณะราว 6 สัปดาห์ ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ทั้งทางอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและทางจิตใจ
ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ทั่วโลกจะงดเว้นการวินิจฉัยว่าใครติดเชื้อซ้ำไว้อย่างน้อย 90 วันหลังป่วยครั้งแรก (หรือ 45 วันถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง) เพราะหากรีบไปวินิจฉัยก็จะวินิจฉัยแยกไม่ออกจากการติดเชื้อครั้งแรก เพราะการวินิจฉัยจะแค่ตรวจ RT-PCR ซ้ำไม่ได้เนื่องจากได้ผลบวกแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นของโควิดตัวเก่าหรือของตัวใหม่ ต้องทำการตรวจเปรียบเทียบจีโนม (genomic sequencing) ของตัวอย่างเชื้อที่ติดครั้งใหม่กับครั้งเก่า ซึ่งเป็นการตรวจที่ยุ่งยากและผมเข้าใจว่าเมืองไทยยังทำไม่ได้ (ถ้ามีที่ไหนทำได้ก็วานบอกผมเอาบุญด้วยนะครับ) ดังนั้น คุณอย่าไปคิดถึงเรื่องการติดเชื้อซ้ำเลย เพราะคิดไปก็ไม่ตลอด
นพ.สันต์ ระบุว่า คำตอบที่ตอบวันนี้ อีกไม่นานก็ต้องเปลี่ยนไปอีก เพราะความรู้ใหม่เรื่องโรคโควิดลากยาวเกิดขึ้นตลอดเวลา และวิธีรักษาก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปตามความรู้ใหม่
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว @Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) เช่นกัน โดยเตือนถึง “ภาวะอาการคงค้างในผู้ติดเชื้อโควิด-19” ที่เรียกว่า “Long COVID” หรือ”Chronic COVID” ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอได้โพสต์เตือนมาตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2020 (กว่า 1 ปีก่อน) และย้ำเตือนเป็นระยะมาตลอดว่าต้องระวัง
อาการคงค้างที่พบ มีตั้งแต่อาการน้อยแบบอ่อนเพลีย ไปจนถึงรุนแรง อย่างกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรืออาการทางระบบประสาท รวมไปถึง อาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ปวดข้อ เจ็บหน้าอก
นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ ที่เจอได้ทั้งในคนติดเชื้ออาการน้อยและอาการรุนแรง ได้แก่ ปัญหาที่หัวใจ อารมณ์แปรปรวน ชัก เป็นต้น โดยอาการคงค้างเหล่านี้ พบในผู้ติดเชื้อโควิด -19 เป็นอาการระยะยาว และมีรายงานพบในผู้ติดเชื้อหลังรักษาจนหายแล้ว ได้ถึง 30-40%
รศ.นพ.ธีระ ยังแนะนำว่า ควรมีการจัดตั้งคลินิกเฉพาะและให้บริการปรึกษาแนะนำผู้ติดเชื้อตั้งแต่เริ่ม น่าจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนดูแลตนเองระยะยาว เนื่องจากขณะนี้ ไทยเรากำลังจะมีเคสผู้ติดเชื้อเกือบล้านคน และคาดว่าผู้มีอาการคงค้างจะมีจำนวนมากพอสมควร เพราะฉนั้น ระบบสุขภาพจำเป็นต้องวางแผนดูแลช่วยเหลือ