รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
นอกจากผลทางร่างกายในระบบการหายใจและผลทางจิตใจแล้ว ผู้ที่รอดหรือฟื้นตัวหลังจากป่วยด้วยโรคโควิด-19 ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ตามมา โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) และ โรคสมองขาดเลือด (ischemic stroke)
ในระลอกนี้ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยทะลุหลักล้านได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ดังนั้นแพทย์ที่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก นอกเหนือจากภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำและนำไปสู่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน (acute pulmonary embolism) ที่พบได้เนืองๆ กว่าโรคปอดอักเสบจากเชื้อโรคอื่น คงได้มีโอกาสพบภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งในระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล หรือหลังออกจากโรงพยาบาลไประยะหนึ่งแล้ว
มีการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาจากประเทศสวีเดน ที่มีระบบฐานข้อมูลสุขภาพของประชาชนในประเทศที่สมบูรณ์ครบถ้วน ได้ทำการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 86,000+ คน พบว่ามีอัตราเสี่ยงอุบัติการณ์ (incidence rate ratio) การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและสมองขาดเลือด อยู่ระหว่าง 3-7 เท่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป ภายในช่วง 2 สัปดาห์นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ (day of infection, DOI) หรือ วันที่เริ่มมีอาการ (day of symptom onset, DOS) แล้วจึงลดลงเหลือประมาณ 2 เท่าในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ถัดมา
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 คือ นอกจากทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานปกป้องตัวเองมากเกิน (cytokine storm) แล้ว ยังทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างของเซลล์ผนังหลอดเลือด (activation, injury, dysfunction, and apoptosis of endothelial cells) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความผิดปกติที่ส่งเสริมในอีกหลากกลไกทั้ง เลือดแข็งตัวง่าย เกล็ดเลือดถูกกระตุ้น และ ACE2 receptor downregulation (Lancet 2021; 398: 599-607)
ในยามที่บ้านเมืองพึ่งพาภาครัฐไม่ค่อยได้ ประชาชนต้องดูแลปกป้องตัวเองและคนที่เรารักอย่างเต็มความสามารถ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 16 สิงหาคม 64 จากการรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 21,157 ราย
ติดในระบบ 16,863 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 3630 ราย
ติดในสถานกักตัว 6 ราย
ติดในเรือนจำ 658 ราย
สะสมละลอกที่สาม 899,451 ราย
สะสมทั้งหมด 928,314 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 803 ราย
สะสม 36,301 ราย
รักษาตัวอยู่ 210,943 ราย
โรงพยาบาลหลัก 55,942 ราย
โรงพยาบาลสนาม 74,406 ราย
แยกกักที่บ้าน 73,006 ราย
อาการหนัก 5626 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1161 ราย
หายกลับบ้านได้ 20,984 ราย
สะสม 682,220 ราย
เสียชีวิต 182 ราย
สะสมละลอกสาม 7640 ราย
สะสมทั้งหมด 7734 ราย