รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี ผลวิจัยเฟสหนึ่งในมนุษย์ พบว่าวัคซีน mRNA ของแพทย์จุฬาฯ มีประสิทธิผลสูงเทียบเท่าวัคซีนของ Pfizer และ Moderna แต่เก็บได้ง่ายและสะดวกกว่า อาจได้ใช้จริงเมษายน 2565
ประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน
โควิดจำนวนมากกว่า 10 โครงการ แต่ที่อยู่ในขั้นที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาลมี 4 ชนิด ได้แก่
1.วัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ChulaCov-19) ใช้เทคโนโลยี mRNA
2.วัคซีนบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพของเภสัชศาสตร์จุฬาฯ ใช้เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน
3.วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ใช้เทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตาย
4.วัคซีนของบริษัท BionetAsia ใช้เทคโนโลยี DNA
วันนี้ มีการแถลงข่าวความคืบหน้าและเป็นข่าวดี ของวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจและสมควรติดตามดังนี้
1.วัคซีนดังกล่าว อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯและสภากาชาดไทย ผู้อำนวยการโครงการคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม มีทีมที่ทำวิจัยหลากหลาย ทั้งของสหรัฐอเมริกา และภาคเอกชน
2.ความเป็นมา เมษายน 2563 เริ่มทดลองในหนู
กรกฎาคม 2563 ทดลองในลิง
14 มิถุนายน 2564 ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง
คาดว่าจะสามารถฉีดเป็นการทั่วไปได้เมษายน 2565
3.เทคโนโลยีที่ใช้เป็นองค์ความรู้ขั้นสูง mRNA ที่จุฬาฯมีร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียของสหรัฐอเมริกา และได้รับความร่วมมือ อย่างดียิ่งจากแหล่งการผลิตของแคนาดา
4.ความปลอดภัย (Safey)
การวิจัยในเฟส 1 ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง มีแต่ผลข้างเคียงเล็กน้อยเช่น การเจ็บตำแหน่งที่ฉีด นอกจากนั้น อาการเล็กน้อย คือ ไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลียนั้น พบว่าจะหายไปได้ภายใน 1-3 วัน และพบในเข็มสองมากกว่าเข็มหนึ่ง
เมื่อเทียบกับวัคซีน Pfizer และ Moderna พบว่าวัคซีนของจุฬาฯ มีผลข้างเคียงน้อยกว่า (แม้จะนำมาเทียบโดยตรงยังไม่ได้ในขณะนี้ก็ตาม เพราะมีปัจจัยข้อจำกัดหลายประการ)
และวัคซีนสามขนาดที่ทดลองของจุฬาฯ คือ 10 , 25 และ 50 ไมโครกรัม พบว่าวัคซีนที่ขนาดต่ำจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
5.ประสิทธิผล (Efficacy) ของวัคซีน
5.1 ภูมิคุ้มกันที่ไปยับยั้งโดยจับกับปุ่มหนาม ( ส่วน RBD ) หรือ sVNT : surrogate Viral Neutralizing Test พบว่าของจุฬาฯมีประสิทธิผลสูง 94%
เทียบเท่ากับของ Pfizer ที่ 94% Astra ได้ 84% Sinovac ได้ 75% โดยมีจุดตัดที่ 68% ว่าป้องกันโรคได้ และถือว่าพบเป็นบวกที่ 20%
การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันของจุฬาฯและ Pfizer ใช้ที่หนึ่งสัปดาห์หลังเข็มสอง ส่วนของ Astra และ Sinovac ใช้ที่หนึ่งเดือนหลังเข็มสอง
5.2 ระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสในหลอดทดลองได้ ( MN-50 : Live-virus Neutralization Test ) พบว่าของจุฬาสูงถึง 4514 หน่วย(MN50 titer) ในขณะที่ของ Pfizer ได้ 1742 หน่วย
5.3 ระดับภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ พบว่าวัคซีนของจุฬาฯยับยั้งได้ดีทั้งสี่สายพันธุ์ โดยยับยั้งได้ดีในสายพันธุ์อัลฟ่ากับเดลต้า และยับยั้งได้ปานกลางในสายพันธุ์เบต้าและแกมม่า
5.4 นอกจากนั้นที่สำคัญคือ วัคซีนของจุฬาฯมีประสิทธิผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อไวรัสที่อยู่ในเซลล์คนที่ติดเชื้อแล้วได้ด้วย
6.ความคงทนของวัคซีนและความสะดวกในการขนส่ง พบว่าวัคซีนของจุฬาฯ สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสหรือตู้เย็นธรรมดาได้นานถึง 3 เดือน ซึ่งวัคซีนของ Pfizer เก็บได้ 1 เดือน และเก็บที่อุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียสได้นานถึง 14 วัน จึงสะดวกสำหรับการใช้ในประเทศไทย
7.ความเป็นไปได้
จะสามารถฉีดในคนไทยได้เร็วที่สุดเมษายน 2565 ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อนุญาตให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน(EUA) หลังวิจัยเฟส 2b ร่วมกับข้อมูลต่างประเทศครบเรียบร้อย (ซึ่งมีตัวอย่างในประเทศไต้หวัน)
แต่ถ้าต้องทำให้ครบเฟส 3 โดยสมบูรณ์ ก็จะช้ากว่านั้น
8.ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วย
8.1ต้องมีทุนวิจัยระดับ 500-2000 ล้านบาท สำหรับอาสาสมัคร 5000 ถึง 20,000 คน ในการทดลองเฟส 2/3
8.2กฎกติกาในการจดทะเบียนฉีดวัคซีน ว่าจะยืดหยุ่นแบบเฟส 2b ร่วมกับข้อมูลต่างประเทศ หรือต้องทดลองครบเฟสสามโดยครบถ้วน
8.3การสนับสนุนของรัฐ ที่จะพัฒนาโรงงานผลิตของประเทศไทยเราเอง ( โรงงานของเอกชนที่มีความพร้อมมากกว่า ลงทุนน้อยกว่า และสำเร็จเร็วกว่า เช่น กรณีของมหาวิทยาลัย Oxford ก็ให้บริษัท AstraZeneca เป็นผู้ผลิต )
8.4 นโยบายของรัฐในเรื่องของการที่จะจองหรือจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าทำให้มีงบประมาณเข้ามาสู่การวิจัยเหมือนที่สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปได้ทำไปแล้ว
ต้องถือว่าเป็นข่าวดีในเบื้องต้น สำหรับวัคซีนฝีมือของคนไทย โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีแบบ mRNA ที่เป็นความหวังของหลายๆคน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-15 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 23,592,227 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,996,826 ราย ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 5,109,476 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 485,925 ราย