ภายหลังวันนี้(17 ส.ค.64) ที่ประชุมเห็นชอบคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 นั้น
สำนักข่าวบีบีซี ไทย ได้รายงานว่า ได้เห็นเนื้อหาของร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อที่มีการนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันนี้ พบว่า มีเนื้อหาที่ว่าด้วยการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางปกครองและไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรค ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ดังนี้
ในส่วนหมวดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้น กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม.สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีกำหนดให้มีระยะเวลาได้ไม่เกิน 3 เดือนนับตั้งแต่วันประกาศและขยายได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน
องค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการในภาวะปกติเดิมเป็นกรรมการ และสามารถเพิ่มกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งได้อีก 4 คน
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในภาวะปกติ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานและกรรมการโดยตำแหน่งอีก 17 คน
มาตรา 44/11 มีระบุว่า ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ หรือการกระทำที่คณะกรรมการกำหนดหรือดำเนินการตามหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจะไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และให้มีผลใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเฉพาะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
เพิ่มข้อความในมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ซึ่งระบุไว้ว่า "ในการดําเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้น ตามความจําเป็นการชดเชยความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง"
โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อให้เติมข้อความว่า "ความในวรรคหนึ่งไม่ใช่บังคับแก่กรณีที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ซึ่งเข้าใจได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการหรือนโยบายใด ๆ ที่บังคับใช้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้น รัฐไม่ต้องชดเชย
ก่อนหน้านั้น น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ. โรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว
ทั้งนี้ เพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่, โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้สาระของกฎหมายมีความสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินโรคระบาดมากยิ่งขึ้น และต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน)
โดย ครม.เห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป โดยหามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยช่วงหนึ่งของการพิจารณา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อที่ประชุม หลังจากการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว มีการหารือถึงประเด็นข้อเสนอออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 พ.ศ. ... หรือพ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์
นายวิษณุ ได้ชี้แจงในที่ประชุม ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มาหารือถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตามที่ตนได้เสนอแนะไป โดยเนื้อหาที่จะแก้ไข มีทั้งการให้คำนิยามคำศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น อาทิ การกักตัว โฮมไอโซเลชั่น คอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น การแก้ไขอำนาจหน้าที่รัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แก้เรื่องค่าใช้จ่าย รวมถึงการนำวิธีอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพิ่มเติม
นอกจากนั้น มีการเพิ่มหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยรัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นด้วยที่จะแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อซึ่งสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้ ด้วยกฎหมายฉบับนี้
ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังได้ระบุในที่ประชุมด้วยว่า จากที่ได้หารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข พบว่าสิ่งที่แพทย์ พยาบาลกลัวคือ สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ กังวลเรื่องมาตรฐานการรักษาจะต่ำกว่าเดิม เพราะไม่มีกำลังในการรักษาเพียงพอต่อผู้ป่วยจำนวนมากขนาดนี้ และยังมีเรื่องหลักเกณฑ์วัคซีนที่บางคนได้ฉีด บางคนไม่ได้ฉีด จึงกลัวโดนฟ้อง
อย่างไรก็ตาม เรื่องของมาตรการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และคนด่านหน้านั้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำไปเพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่จะเกิดขึ้น หรือจะออกเป็น พ.ร.ก.อีกฉบับต่างหาก เนื่องจากการออกกฎหมายคุ้มครองแพทย์และคนด่านหน้านั้น ยังไม่มีรายละเอียดและยังไม่ครบถ้วน จึงให้กระทรวงสาธารณสุขไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนว่าจะออกมาเป็นกฎหมายรูปแบบใด จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้ง