รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีนโยบายที่ชัดเจนในการนำเข้าวัคซีนว่า ต้องเป็นวัคซีนที่ไม่ซ้ำกับวัคซีนที่ภาครัฐ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งดำเนินการแล้ว และต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองแล้ว ฉีดแล้วสามารถเดินทางต่างประเทศได้
โดยวัคซีนที่สนใจและมองว่ามีประสิทธิภาพคือ โนวาแวกซ์ นอกจากนี้ยังมี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย. แล้วและยังไม่มีผู้นำเข้า ส่วนวัคซีนอื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ เช่น ไฟเซอร์ หากเป็นเจนเนอเรชั่น 2 ที่ขณะนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แต่มีข่าวว่าอยู่ระหว่างการศึกษาในห้องแล็บ ยังไม่มีในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ส่วนโมเดอร์นา เจนเนอเรชั่น 2 เริ่มมีการเปิดให้แสดงความจำนงจองวัคซีนแล้ว ก็จะไม่นำเข้ามา
หลังจากที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกประกาศใช้ข้อบังคับในการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่ามีหน่วยงาน องค์กร ตลอดจนเอกชน จำนวนมากติดต่อเข้ามาเพื่อขอสนับสนุนและผลักดันในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งโรงพยาบาลยินดีและพร้อมเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามานำเสนอ แต่ต้องดำเนินการตามนโยบายของโรงพยาบาล
“เป้าหมายของโรงพยาบาลคือการนำวัคซีนมาฉีดให้กับคนไทยเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานให้ได้มากที่สุด เราเองก็อยากได้วัคซีนให้เร็วที่สุด แต่ต้องเข้าใจว่า เมื่อมาออกตัวตอนนี้ ก็มีคิวจอง จากทุกประเทศรวมถึงรัฐบาลไทยเอง
ซึ่งถ้ายังไม่ได้รับการยืนยันที่ชัดเจนว่า เป็นวัคซีนอะไร ได้รับเมื่อไร เราก็ยังไม่กล้าประกาศ ซึ่งถ้ามีทางลัดทำให้ได้รับวัคซีนเร็วที่สุด เราก็ยินดี หากได้รับภายในปีนี้ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดีต่อคนไทยทุกคน”
อย่างไรก็ดี หลังจากที่สภามหาวิทยาลัย ออกประกาศดังกล่าวแล้ว การดำเนินการต่อไปจะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งประกาศดังกล่าวจะช่วยปลดล็อกในเรื่องของยาและวัคซีนที่ตอนนี้มีปัญหาในการจัดหาจัดซื้อ เพื่อมาช่วยผู้ป่วย
เนื่องจากอาจจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมถึงเวชภัณฑ์ โดยสภามหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้อธิการบดีเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการจัดหาจัดซื้อและดำเนินการต่างๆ
สำหรับความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ของโรงพยาบาลเอกชนที่ดำเนินการสั่งซื้อไปแล้วจำนวน 3.9 ล้านโดสนั้น เบื้องต้นจะนำเข้ามาจำนวน 1.6 ล้านโดส ภายในไตรมาส 4 หรือคิดเป็น 40% ส่วนอีก 60% ที่เหลือ หรือราว 2.3 ล้านโดส จะนำเข้ามาในไตรมาส 1 ปี 2565
ส่วนล็อตเพิ่มเติม จะทยอยเข้ามาในไตรมาส 1 และ 2 ปี 2565 อีก 5 ล้านโดส เมื่อรวมกับของสภากาชาดไทยที่สั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมจะทำให้มีวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นารวมทั้งหมดราว 10 ล้านโดส
ขณะเดียวกันพบว่า ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ได้ยื่นหนังสือเพิ่มเติม ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่ออนุมัติการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 12-17 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอย. คาดว่าจะรู้ผลในเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้เป็นวัคซีน mRNA ตัวที่ 2 (ต่อจากไฟเซอร์) ที่สามารถฉีดให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้
ทั้งนี้ โมเดอร์นา อิงก์ ได้ยื่นขออนุมัติต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสุขภาพของยุโรปและแคนาดา เพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนเพื่อเติมในวัยรุ่นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่พบว่าได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 โดสมีประสิทธิผลจาการทดลอง 96% โดยไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการยื่นขออนุมัติเช่นเดียวกันในเดือนกรกฎาคมด้วย