น.พ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Nithi Mahanonda ระบุว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยรวม ร่วมกับความปลอดภัยและประโยชน์ในการลดการแพร่เชื้อ การมีอาการหนัก และความเสี่ยงในการเสียชีวิตหากได้รับเชื้อ หลังได้รับวัคซีนของผู้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด19
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงขอประกาศนโยบายการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ดังนี้
1.ให้บริการเฉพาะผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้วเท่านั้น และไม่รับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเว้นแต่อยู่ในโครงการศึกษาวิจัยที่ได้ผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แล้ว
2.ให้บริการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำจากผู้ผลิตโดยไม่ฉีดข้ามชนิด นอกจากอยู่ในโครงการวิจัยที่ได้ผ่านการพิจารณาและรับรองแล้วจากคณะกรรมการจริยธรรมฯ หรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากวัคซีนเดิม หรือมีใบรับรองจากแพทย์ว่ามีความจำเป็นและข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
3. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่สามารถให้ผู้รับการฉีดเลือกชนิดวัคซีนเองได้ ซึ่งโดยในหลักการตามปริมาณวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลางขณะนี้ วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะสงวนสิทธิ์ไว้สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อาจมีความบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
4.เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับวัคซีนเร็วขึ้นในช่วงที่มีการระบาดสูง ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะปรับการฉีดเข็มที่สองของวัคซีนซิโนแวค เป็น 2-3 สัปดาห์ และ 4-6 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสเจ็บหนักหรือเสียชีวิตร่วมกับลดความจำเป็นในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกับผู้ที่ได้รับวัคซีนทุกคน
5.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้บริการฉีดวัคซีนกับทุกสัญชาติเชื้อชาติที่มีที่อยู่ในประเทศไทย ด้วยการคำนึงถึงเหตุผลที่สำคัญในการลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการติดเชื้อของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วที่มักได้รับเชื้อจากผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องได้วัคซีนโดยเร็ว ไม่ว่าจะสัญชาติใด