รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
จำนวนผู้ป่วยโควิดรุนแรง/วิกฤตของศิริราชเริ่มลดลงช้าๆ สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยเช่นเดียวกันนี้ทั่ว
กทม.และปริมณฑล ทั้งที่ได้เข้ารพ.หลักแล้วและที่กำลังรอคอยเตียงอยู่ในชุมชน แต่ตัวเลขเหล่านี้กำลังไปเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องรีบเตรียมแผนบริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่างไปหนุนช่วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุนแรงซ้ำรอยที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงจนใจสลายมาแล้ว
คำแนะนำการใส่แมสก์ 2 ชั้นตามรูปที่ทางการเผยแพร่มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนนี้ คงทำให้สงสัยกันว่าทำไปทำไมในเมื่อการใส่หน้ากากอนามัยชั้นเดียวก็ดีอยู่แล้ว ย้อนกลับไปดูการศึกษาแรกที่นำมาอ้างถึงกันโดย USCDC ของอเมริกา เป็นการศึกษาในหุ่นที่อยู่นิ่ง พบว่าการสวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าชั้นเดียวจะระงับละอองกระจายจากแหล่งแพร่ได้ 56% และ 51% ตามลำดับ ถ้าสวมหน้ากากผ้าซ้อนหน้ากากอนามัยจะได้ 85% ในทางกลับกันถ้าวัดในด้านแหล่งรับเชื้อ การสวมสองชั้นจะป้องกันการรับเชื้อได้ 82% แต่ถ้าใส่สองชั้นทั้งแหล่งแพร่และแหล่งรับจะกันได้ 96% (MMWR Morbidity Mortality Weekly Report. 2021 Feb 19;70(7):254-257)
เมื่อนำมาทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 3 คนที่ให้มีการเคลื่อนไหวลำตัว ศีรษะ และใบหน้าเป็นช่วงๆ เลียนแบบชีวิตจริง พบว่าการใส่หน้ากากอนามัยชั้นเดียวให้กระชับและถูกวิธี สามารถกันละอองลอยที่ใช้แทนไวรัสโคโรนา-2019 ได้ 55% ถ้าซ้อนกัน 2 ชั้นได้ 66% การใส่หน้ากากผ้าชั้นเดียวกันได้ 41-44%
แต่ถ้าใส่หน้ากากผ้าซ้อนหน้ากากอนามัยจะได้ผลใกล้เคียงกับการใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น (61-88%) และดีกว่าการใส่หน้ากากอนามัยซ้อนหน้ากากผ้า (55-60%) ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลจากการที่หน้ากากผ้าไปทำให้หน้ากากอนามัยกระชับแน่นขึ้น มากกว่าผลจากคุณสมบัติการกรองโดยตัววัสดุที่ใช้ (JAMA Internal Medicine 2021 Aug 1;181(8):1126-1128)
โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยซ้อนกันสองชั้น เพราะนอกจากจะเปลืองและได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่มากจากการใส่ชั้นเดียวให้กระชับ ยังทำให้ผู้ใส่เกิดความอึดอัดได้ง่าย ดังเช่นที่มีการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดจากตุรกี พบว่าการใส่หน้ากากอนามัยสองชั้นเมื่อผ่านไป 30 นาที ผู้ใส่จะเริ่มทนไม่ค่อยไหว โดยที่มีการลดลงของระดับความอิ่มตัวออกซิเจนในหลอดเลือดปลายนิ้วบ้าง แต่ไม่มีความสำคัญในทางคลินิก (Archive of Gynecology and Obstetrics. 2021 Jun 18: 1-6.doi:10.1007/s00404-021-06126-3 [Epub ahead of print])
ข้อควรระวังในการนำไปใช้งานจริงคือ การหายใจเข้าออกเวลาใส่หน้ากากสองชั้นจะต้องใช้แรงมากขึ้นด้วย (Physics of Fluids 2021 Jul;33(7):077120. doi: 10.1063/5.0058571. Epub 2021 Jul 21) ดังนั้นเมื่อใช้ไปนานเข้าผู้ใช้อาจมีการขยับหน้ากากเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น ทำให้คุณสมบัติการกรองลดลง และที่สำคัญคือมือของผู้ใส่อาจไปสัมผัสผิวนอกของหน้ากากผ้าที่ซ้อนอยู่ด้านนอก ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับสิ่งปนเปื้อนที่มีเชื้อตกค้างอยู่ได้ นอกจากนี้หน้ากากอนามัยที่ใช้ในทั้งสองการทดลองข้างต้น เป็นชนิดวัสดุสามชั้นตามมาตรฐาน ส่วนหน้ากากผ้าก็เป็นชนิดวัสดุสามชั้นเช่นกัน สำหรับมาตรฐานควบคุมหน้ากากผ้าที่ใส่เพื่อป้องกันโควิดนั้น ปัจจุบันทั้งองค์การอาหารและยาของอเมริกาและไทยยังไม่ได้มีการกำหนดออกมา
ในส่วนของการใช้หน้ากากผ้าที่มีส่วนผสมของอนุภาค silver, copper, titanium, gold, และ zinc แม้จะมีฤทธิ์ทำให้ไวรัสที่ติดค้างอยู่อ่อนแรงได้ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ผลการป้องกันการติดโรคโควิด-19 ยกเว้นประโยชน์ด้านความนิ่มของเนื้อผ้าที่ทำให้ใส่สบาย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 24 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 17,165 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,973 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 192 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,055,088 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 226 ราย หายป่วยกลับบ้าน 20,059 ราย กำลังรักษา 192,334 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 854,403 ราย