รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ปิดร้านอาหารทำไม?
การตัดสินใจปิดไม่ให้ประชาชนนั่งทานในร้านอาหาร อาจจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน
จริงอยู่มีผู้ประกอบการอยู่บ้างที่ไม่เข้มงวด ในเรื่องของจำนวนคนที่เข้าร้าน ทำให้การรักษาระยะห่างไม่ได้ผลและไม่ได้ควบคุมวินัย
แต่ตัวอย่างดังกล่าวไม่ควรนำมาถึงการห้ามทั้งหมด ในเมื่อ
สามารถที่จะควบคุมให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดได้…ไม่ใช่หรือ?
และในเมื่อเราก็ทราบอยู่เต็มอกแล้วว่า ชีวิตชาวโลกคงต้องอยู่กับโควิด-19 (Covid-19)ไปอีกนาน และประเทศไทยเองก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของวัคซีนทั้งจำนวนและความหลากหลายของวัคซีน
การทำให้การดำรงชีวิตของคนไทยเข้าใกล้ปกติอย่างปลอดภัยทั้งตนเองและมีความรับผิดชอบต่อสังคมกลับเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมมากกว่า….ไม่ใช่หรือ?
การดูตัวอย่างที่ไม่ดีแต่ตีคลุมไปว่า เลวร้ายไปทั้งหมด นอกจากจะไม่ช่วยการควบคุมโรค แต่น่าจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนและลูกจ้างที่มีอาชีพสุจริตและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดมาตลอด และแม้แต่การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารซึ่งสามารถควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดก็ยังได้ แต่มองเปรียบเสมือนว่าเป็นร้านขี้เหล้าเมายาไปทั้งหมด
สำหรับร้านอาหารนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่า เป็นหนึ่งในกิจการที่ถูกสั่งปิดให้บริการ จากมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ออกข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28)โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564