เด็กติดเชื้อโควิดจากครอบครัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

24 ส.ค. 2564 | 06:28 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2564 | 13:30 น.

กรมการแพทย์ เผยปัจจุบันเด็กติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบเป็นการติดต่อจากการอยู่ร่วมกันและการไปมาหาสู่ระหว่างกัน เกือบร้อยละ 90 อยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อยหรือไม่มีอาการ ยกเว้นในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี มักอาการอาจรุนแรง

24 ส.ค.64 นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 เป็นจำนวนมาก พบการติดเชื้อติดต่อกันภายในครอบครัวไปสู่เด็กเล็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการอยู่ร่วมกันและการไปมาหาสู่ระหว่างกัน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโควิดเป็นการบริบาลแบบครอบครัว  

ในกรณีที่ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 สามารถเข้ารับบริการและรับการรักษาดูแลเป็นครอบครัวแบบผู้ป่วยในได้ ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ที่มีอาการไม่มากและได้รับการประเมินวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนเข้าทำการรักษา ทางสถาบันสุขภาพเด็กฯ จะดูแลผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครองจนมั่นใจว่าอาการดีขึ้น สามารถกลับบ้านและหรือพิจารณาย้ายไปยัง Hospitel  เพื่อสังเกตอาการต่อจนครบ 10-14วัน

นายแพทย์อดิศัย  ภัตตาตั้ง  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า สำหรับผู้ป่วยเด็กรายที่อาการไม่รุนแรงสามารถทำ  Home Isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) ได้ โดยต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ที่ทำการรักษา โดยให้ปฏิบัติเบื้องต้นดังนี้ 

การแยกของใช้ส่วนตัว แยกห้องน้ำ ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น แยกพื้นที่จากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด 19 แยกรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่พาเด็กออกไปที่สาธารณะ ควรให้เด็กเล่นในบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ใกล้ชิดคนอื่นให้น้อยที่สุด  ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กไม่ควรออกไปนอกบ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกไปเมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนมาเล่นกับเด็ก สอนเด็กล้างมือ  ใส่หน้ากากอนามัย  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ  

จากการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในช่วง 3 ระยะของการระบาดพบว่า เด็กติดเชื้อโควิด 19 เกือบร้อยละ 90 อยู่ในเกณฑ์รุนแรงน้อยหรือไม่มีอาการ มีส่วนน้อยที่จะมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วย ผู้ที่มีอาการรุนแรงมักจะพบในเด็กอายุน้อยมากๆ เช่นในเด็กต่ำกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว และขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ  จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้