วันนี้(27 ส.ค.64) นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หลังสังคมยังเคลือบแคลงสงสัย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยเกรงว่าอาจมีการช่วยเหลือกันหรือไม่ เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจ ว่า อยากขอใช้คำว่าอย่าปิดเแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ เพราะเป็นการเปิดโปรงกระบวนการทั้งหมดว่ามีการกระทำเป็นอย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
“หลังจากเกิดเหตุมีการถอดกล้องวงจรปิดออกหมด แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ไม่เห็นด้วยและทนไม่ไหว ได้แจ้งข้อมูลและส่งคลิปภาพมาเปิดเผย หากไม่ใช่คนวงใน ก็คงจะไม่มีข้อมูลที่มาเปิดเผย ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความไม่เห็นด้วยของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหมือนกับการเปลือยล่อนจ้อนว่า การกระทำนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มันเหมือนพายุร้ายที่กวาดล้าง จะเรียกว่ากวาดล้างความไม่ดีงานต่างๆ โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสำคัญ เพราะเดี๋ยวนี้ประชาชนหรือคนในวงการก็ดีทนไม่ไหว" นายวิชา ระบุ
นายวิชา ซึ่งเป็นอดีตกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า แนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของทั่วโลกในขณะนี้ ใช้หลักในการแจ้งเบาะแส แจ้งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด หากมีข้อมูลมีการถ่ายคลิปผ่านทางมือถือ ก็สามารถส่งข้อมูลเพื่อป้องปรามการทุจริตและเป็นหลักฐาน ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ ส่วนกระบวนการในการสอบสวนที่ผ่านมามีการใช้ “ถุงดำคลุมหัว” แบบในคลิปที่ปรากฏหรือไม่ รวมทั้งผู้กระทำความผิดมีการออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาในการฆ่านั้น อยากให้ย้อนไปดูคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5332/60
มีคำพิพากษาไว้ในหลักการและลักษณะที่ชัดเจน โดยวินิจฉัยว่า การนำถุงคลุมหัวย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นว่า ผู้ถูกกระทำย่อมขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้ จึงวางหลักในคดีไว้ว่า จำเลยจึงมี “เจตนาฆ่า” ซึ่งกรณีนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว
ส่วกระบวนการหลังจากนี้ ก็คงต้องติดตามการทำงานของคณะกรรมการในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งส่วนตัวมองว่า มีความผิดปกติเนื่องจากการสอบสวนนั้น จะต้องดำเนินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องอาศัยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ และกระบวนการอื่นๆ ในการพิจารณาร่วมกันเพื่อค้นหาความจริง ว่ามีใครร่วมมือหรืออยู่เบื้องหลังและมีการทำแบบนี้ก่อนหน้านี้หรือไม่
นายวิชา ชี้ว่า การปฏิรูปตำรวจนั้นจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการในการสอบสวนควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติสอบสวนคดีอาญา ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน ได้ส่งเรื่องมาแล้ว ขณะนี้อยู่ชั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการก็พยายามเร่งเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็ว