ศบค.คลายล็อกดาวน์ เริ่มวันแรก 1 ก.ย.แต่ยังคงเวลาเคอร์ฟิว

27 ส.ค. 2564 | 09:51 น.

ศบค.คลายล็อกดาวน์ เริ่มวันแรก 1 ก.ย. เปิดห้าง ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แต่ยังคงเวลาเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ต่ออีกอย่างน้อย 14 วัน

จากกรณีที่วันนี้ 27 ส.ค. ที่ประชุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีข้อสรุปดังนี้

• เปิดห้างฯ คอมมูนิตี้มอลล์ ใช้มาตรการตรวจเข้ม ต้องฉีดวัคซีนครบ,หากไม่ครบต้องตรวจ ATK

• เปิดร้านอาหารแบบเปิดแอร์จำกัด 50% และแบบไม่เปิดแอร์ 75%

• เปิดร้านเสริมสวย นวดฝ่าเท้า สวนสาธารณะ

• คงพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม

• คงเวลาเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ต่ออีกอย่างน้อย 14 วัน

(ต้องเป็นกิจกรรม/กิจการ ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด)

 

ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 13/2564 ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์  โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานว่า ในครั้งนี้ไม่มีการปรับสีในพื้นที่สถานการณ์ และปรับการควบคุมโรคที่เข้มงวด มีการอนุญาตให้เปิดกิจการ/กิจกรรมเพิ่มเติม  ตามความพร้อมและความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด รวมทั้งมีการพิจารณารอบด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคม 

 

อย่างไรก็ตามการเสนอมาตรการในวันนี้ เป็นแนวทางการควบคุมโรคแนวใหม่ ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่สามารถปลอดภัยจากโควิด ในแง่ของการจัดพื้นที่เสี่ยงควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่เป็นสีแดงเข้ม วันนี้ไม่มีการปรับสี  สืบเนื่องมาจากการรายงานสถานการณ์การติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตที่ยังพบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในระดัยชุมชน สถานประกอบการ โรงงาน ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง ที่พัก หอพักที่อยู่กันอย่างแออัด

 

ทำให้ศบค.พิจารณา 29 จังหวัดยังไม่มีการปรับสี  ยังกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในจังหวัดเหล่านี้มีการคงมาตรการที่เข้มงวด เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดต่อเนื่องได้ผล และเชื่อมั่นว่าระบบสาสธารณสุขยังรองรับได้ 

 

ศบค.คลายล็อกดาวน์ เริ่มวันแรก 1 ก.ย.แต่ยังคงเวลาเคอร์ฟิว

 

โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการคงมาตรการทางสังคม ทั้งในส่วนของการเวิร์คฟอร์มโฮมและเคอร์ฟิว(21.00-04.00 น.)คงอยู่อย่างน้อย 14 วัน และมีการยกระดับการป้องกันส่วนบุคคลที่เรียกว่า การป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention รวมทั้งมาตรการองค์กร.

 

ที่มา: ศบค.