รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีน Pfizer สองเข็ม ลดลงมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์
วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของบริษัท Pfizer มีรายงานเรื่องระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูงมาโดยตลอด
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีรายงานการศึกษาว่า ระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลในการป้องกันโรคลดลงเป็นลำดับ
ยิ่งเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาดกว้างขวางทั่วโลก และกระทบกับประสิทธิผลของวัคซีนทุกชนิด จึงทำให้เกิดคำถามสำหรับประชาชนทั่วไป ที่ฉีดวัคซีนแล้วสองเข็มตามกำหนด ว่าจำเป็นจะต้องฉีดกระตุ้นเข็มสามหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่วัคซีนยังขาดแคลนทั่วโลก มีวัคซีนไม่พอที่จะฉีดให้กับทุกคน แล้วกลุ่มใดบ้างที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงแม้ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้ว จนจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนเข็มสาม
ข้อมูลที่มีในเบื้องต้นได้ระบุกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้วว่า อาจจะป้องกันโควิดได้ไม่ดีนัก ประกอบด้วย
1.กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เป็นมะเร็งได้รับการฉายแสงหรือได้รับเคมีบำบัด ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
2.กลุ่มผู้สูงอายุ
3.กลุ่มที่มีโรคประจำตัว
4.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด
ในปัจจุบันนี้ สหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ฉีดกระตุ้นเข็มสามในประชาชนกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ (เกือบ 3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด)
อิสราเอล ให้ฉีดกระตุ้นเข็มสามในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
ส่วนในประเทศไทย มีนโยบายและเริ่มให้ฉีดกระตุ้นเข็มสามกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac สองเข็ม
รายงานการศึกษาวันนี้ เป็นการติดตามผลการฉีดวัคซีน Pfizer สองเข็มไปนาน 6 เดือน ในสองกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าระดับภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุลดลงเหลือน้อยกว่าในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่อายุน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็น Anti SARS-CoV-2 S1 หรือ RBD-IgG และในกลุ่มภูมิคุ้มกันที่ทำลายไวรัสโดยตรง (NAb)ก็ลดลงชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มบุคลากร
นอกจากนั้น ระดับการทำงานของทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งร่วมกับภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส ก็มีผลการทำงานลดลง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้พบผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้วเป็นเวลาตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป เริ่มมีอัตราการติดเชื้อ การป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่าและได้รับวัคซีนสองเข็มเท่ากัน
แต่ถ้าในกรณีที่ผู้สูงอายุ ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน ไปสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ ความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์แม้มีระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่า แต่สัมผัสเสี่ยงกับผู้ป่วยมากกว่า ก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุเป็นสองกลุ่มที่มีความเสี่ยงและอยู่ในลำดับที่จะได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามใกล้เคียงกัน
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-27 ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 30,420,507 โดส แบ่งเป็นฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 22,617,701 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 7,221,368 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 581,438 ราย