เปิดแผนวัคซีนโควิดไฟเซอร์ที่ ครม.อนุมัติงบล่าสุด 4,745 ล้านบาท

31 ส.ค. 2564 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 15:57 น.

เปิดเเผนวัคซีนโควิดไฟเซอร์ จำนวนกว่า 10 ล้านโดส ที่ ครม.อนุมัติงบประมาณล่าสุด 4,745 ล้านบาท เพื่อเป้าหมาย 100 ล้านโดสในปีนี้

เมื่อวานนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติงบประมาณ 4,745 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 9,998,820 โดส โดยมั่นใจว่าประเทศไทย จะบรรลุเป้าหมายการจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสในปีนี้ โดยกลุ่มเป้าหมายมีจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่

เด็กอายุ 12 - 17 ปี

หญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า

กลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 โรคเสี่ยง

ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ก่อนที่เดินทางไปต่างประเทศทั้งนักเรียนนักศึกษาหรือนักการทูต

โดยจากงบเงินกู้ตามพระ ราชกำหนดเพิ่มเติมพ.ศ. 2564 ภายใต้แผนหรือโครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ยารักษาโรควัคซีนและการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ขออนุมัติจัดซื้อวัคซีนไปแล้วจำนวน 80 ล้านโดส วงเงิน 22,990 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การจัดซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวค จำนวน 19 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบพบว่า คณะอนุกรรมการมีข้อสังเกตในเรื่องการบริหารจัดการโครงการเพิ่มเติมงบรายจ่าย รายการค่าขนส่งวัคซีนโควิดไฟเซอร์ภายในประเทศภายใต้โครงการที่เสนอในครั้งนี้มีราคาต่อหน่วยสูงกว่ากรณีของโครงการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20,000,000 โดส ที่เพิ่งได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้เล็กน้อย

ทั้งที่เป็นโครงการจัดหาวัคซีนประเภทเดียวกันและจะต้องดำเนินการขนส่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกลุ่ม

จึงควรพิจารณาปรับปรุงงบรายจ่ายรายการดังกล่าวให้สอดคล้องกันเพื่อการใช้จ่ายเงินกู้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยปรับแผนการเบิกจ่ายค่าขนส่งวัคซีนให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อให้การจัดหาวัคซีนสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและปรับลดค่าขนส่งวัคซีนต่อหน่วยจาก 42.7329 บาท เป็น 42.1932 บาท หรือลดลง 0.5297 บาทเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าขนส่งวัคซีนรอบที่หนึ่ง ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564

นอกจากนี้ยังให้กรมควบคุมโรค พิจารณาทำสัญญาและวางแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินโครงการกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนด

เช่น กรณีไม่ได้รับการส่งมอบวัคซีนภายในระยะเวลาที่ระบุกรณีที่อาจมีการเลื่อนการจัดส่งจนทำให้มีวัคซีนจำนวนมากที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นปัญหาและต้นทุนในการเก็บรักษา

หากไม่สามารถกระจายและฉีดวัคซีนได้ทันและกรณีที่มีวัคซีนรุ่นใหม่ก่อนการส่งมอบวัคซีนที่ได้จัดซื้อไว้ให้สามารถเปลี่ยนเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ได้ทั้งนี้เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการตามแผนบริหารวัคซีนของประเทศ

และยังเห็นควรมอบหมายให้กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้สอบอนอสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามการตามแผนการใช้เงินที่เกิดขึ้นจริงซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ