รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ผู้หายป่วยจากโควิดแล้ว แต่ไม่พบภูมิคุ้มกันเหลืออยู่ มีตั้งแต่ 5-85% ขึ้นอยู่กับว่าตอนป่วยมีปริมาณไวรัสในตัวมากน้อยเพียงใด
มีคำถามสำคัญเกิดขึ้นตลอดเวลาทั่วโลกว่า ผู้ที่ติดเชื้อและหายป่วยจากโควิดแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงใด และจะอยู่ไปได้นานเพียงใด
จำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนหรือไม่
ที่สำคัญคือ ปัจจัยใดจะเป็นตัวกำหนดสำคัญ ในการมีภูมิคุ้มกันมากหรือน้อยในผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว
จากการรวบรวมรายงานการศึกษาจากประเทศต่างๆ พบว่าผู้ที่หายป่วยจากโควิดแล้วไม่มีภูมิคุ้มกันเหลือ มีจำนวนที่แตกต่างกันอย่างมาก ได้แก่
การศึกษาที่อิสราเอล
พบผู้หายป่วย ไม่มีภูมิคุ้มกัน 5%
การศึกษาที่นิวยอร์ก
พบผู้หายป่วย ไม่มีภูมิคุ้มกัน 20%
การศึกษาที่ประเทศสเปน
พบผู้หายป่วย ไม่มีภูมิคุ้มกัน 25%
การศึกษาที่ประเทศเยอรมัน
พบผู้หายป่วย ไม่มีภูมิคุ้มกัน 85%
จึงทำให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และมหาวิทยาลัยอลาบาม่า สหรัฐอเมริกา ต้องการค้นหาสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญว่า ทำไมตัวเลขการศึกษาจากประเทศต่างๆจึงแตกต่างกันมากขนาดนั้น
โดยทำการรวบรวม ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นโควิด โดยวิธีตรวจมาตรฐาน RT-PCR 72 ราย และตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันหลังจากที่ไม่มีอาการแล้วตั้งแต่สามสัปดาห์ขึ้นไป
โดยในกลุ่มอาสาสมัครนั้น มีอาการป่วยรุนแรงที่แตกต่างกันดังนี้
1.ไม่มีอาการ 3%
2.มีอาการน้อย 18%
3.มีอาการปานกลาง 67%
4.มีอาการหนัก 12%
จากการเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อนำมาหาระดับภูมิคุ้มกันทั้ง IgG และ IgA และระดับภูมิคุ้มกันย่อย ต่อ RBD และ Nucleocapsid พบว่า
ในการศึกษาครั้งนี้ มีผู้หายป่วยแล้ว แต่ตรวจไม่พบภูมิคุ้มกัน 36%
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ปัจจัยเรื่องเพศ เชื้อชาติ ความรุนแรงของการเจ็บป่วย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับภูมิคุ้มกันที่จะมีมากหรือน้อย
แต่ไปพบปัจจัยสำคัญสองประการ ที่มีผลกับระดับภูมิคุ้มกัน ได้แก่
1.ปริมาณไวรัส (Viral load) ที่เกิดขึ้นในระหว่างติดเชื้อ โดยใช้ค่า Ct (Cycle threshold) คือจำนวนรอบของการเพิ่มจำนวนไวรัส เพื่อทำให้สามารถตรวจพบไวรัสได้
ถ้ามีปริมาณไวรัสน้อย จะต้องใช้จำนวนรอบในการเพิ่มจำนวนไวรัสมากหลายรอบ ค่า Ct ก็จะมาก
จึงสรุปเพื่อเข้าใจโดยง่ายคือ ถ้า
Ct มาก แปลว่า มีไวรัสน้อย
Ct น้อย แปลว่ามีไวรัสมาก
ในงานวิจัยนี้พบว่า ในกลุ่มที่ตรวจไม่พบระดับภูมิคุ้มกันหลังจากหายป่วยแล้ว มีค่า Ct มากกว่า (มีปริมาณไวรัสน้อยกว่า)คนที่พบถึง 11 รอบ
ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสเปนที่พบค่า Ct ในผู้ที่ป่วยแล้วไม่มีภูมิคุ้มกัน มากกว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ 10 รอบ
อีกปัจจัยหนึ่งที่พบร่วมกันก็คือ ผู้ที่หายป่วยแล้วและไม่มีภูมิคุ้มกัน จะมีอายุเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มที่หายป่วยและมีภูมิคุ้มกันถึง 10 ปี คือระหว่าง อายุ 40 กับอายุ 50 ปี
เมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบรายงานวิจัยต่างๆ ที่มีร้อยละของการพบผู้หายป่วยแล้วไม่มีภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน ก็เพราะในแต่ละการศึกษา ตรวจผู้ที่มีปริมาณไวรัสแตกต่างกันนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป
1.ผู้ติดโควิดที่รักษาจนหายดีแล้ว จะพบภูมิคุ้มกันต่ำหรือไม่พบ แตกต่างกัน 5-85%
2.ถ้าระหว่างติดเชื้อ มีปริมาณไวรัสเข้าไปในตัวน้อย จะมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำและเมื่อหายป่วยแล้วก็จะตรวจหาภูมิคุ้มกันไม่พบ
3.อาการป่วยที่รุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน เชื้อชาติ หรือเพศ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับภูมิคุ้มกันที่จะตรวจพบภายหลังหายป่วยแล้ว
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประจำวันที่ 31 สิงหาคม 64 พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 63 มีผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิดแล้ว 1,021,772 ราย โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 171,245 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 14,308 ราย และอบู่ที่โรงพยาบาลสนามและที่อื่นๆ 157,060 ราย