รายงานข่าวระบุว่า ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสเฟซบุ๊กส่วนตัว (เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang)โดยมีข้อความระบุ ว่า
ข้อควรระวัง การใช้ Antigen Test Kit
ในตอนนี้ หลายคนหาซื้อชุดตรวจแบบ Antigen Test Kit (ATK) มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Covid-19) เบื้องต้นให้ตัวเอง ซึ่งอาจได้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้ ชุดตรวจ ATK ตรวจแล้วรู้ผลเร็วกว่าการตรวจด้วยวิธี Rt-PCR ที่จะต้องรอผลแล็ป 1-2 วัน
การใช้ชุดตรวจ ATK ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะชุดตรวจโควิดอาจได้ผลบวกปลอม อาจมาจากการปนเปื้อน ติดเชื้อไวรัส หรือขั้นตอนการตรวจไม่ถูกวิธี และจะไปรักษารวมกับผู้ติดเชื้อรายอื่น อาจจะทำให้ติดเชื้อไปด้วย จึงต้องตรวจ Rt-PCR ซ้ำก่อน และบางส่วนอาจมีผลลบปลอม ตรวจเป็นลบที่อาจมีเชื้อโควิดน้อยจนตรวจไม่พบเมื่อผลเป็นลบปลอม ก็ไปใช้ชีวิตปกติ ก็ทำให้คนอื่น ๆ เสี่ยงที่จะติดเชื้อไปด้วย
การใช้งาน ATK ควรเลือกใช้ชุดตรวจที่ได้มาตรฐานที่มี อย.รับรอง หรือซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ ชุดตรวจแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน เช่น เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก โพรงหลังจมูก หรือน้ำลายก่อนใช้จะต้องอ่านคำแนะนำที่ให้มาในชุดตรวจให้ละเอียด และทิ้งชุดตรวจหลังจากใช้งานอย่างถูกวิธีด้วย
การตรวจแบบ ATK จะทราบผลตรวจเร็ว ถ้าผลเป็น บวก ถือเป็นผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 ผลอาจยังไม่ 100% ซึ่งต้องตรวจยืนยันผลติดเชื้อด้วยวิธี Rt-PCR ซ้ำก่อน เพื่อส่งเข้ารับการรักษาต่อไป หากผลเป็นลบการเฝ้าระวังตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญ ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากโควิด-19 จะดีที่สุด
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าชุดตรวจATK จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) https://www.fda.moph.go.th ได้เผยแพร่รายชื่อบริษัทที่นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายชุดตรวจชุดตรวจสำหรับ COVID-19 ประเภท Rapid Test Antigen หรือ Antigen Test Kits หรือ ATK แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Test Self-Test Kits) โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2664 ที่ผ่านปรากฏว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 45 ราย เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก.ค. ซึ่งแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่เป็นประเทศจีนประมาณ 28 บริษัท รองลงมาเป็นชุดตรวจจากประเทศเกาหลี 9 บริษัท สหรัฐ 3 บริษัท ไต้หวัน 3 บริษัท สเปน 1 บริษัทและสวิสเซอร์แลนด์ 1 บริษัท ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีแจ้งรายละเอียดการนำเข้าต่อกรมการค้าในตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)
อย่างไรก็ดี พบว่ามี 9 ยี่ห้อ ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้แจ้งต้นทุนและราคามาแล้ว และส่วนที่เหลือกำลังทยอยแจ้งข้อมูล โดยเบื้องต้นมีต้นทุนการนำเข้าแบบซีไอเอฟ (ค่าสินค้า รวมค่าประกัน และค่าขนส่ง) ชิ้นละ 40.60-221.71 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าบริหารจัดการ และส่วนต่างราคา แต่เมื่อรวมแล้ว ราคาจำหน่ายส่งอยู่ที่ชิ้นละ 160-305.55 บาท และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นละ 219.35-425 บาท อาทิ นำเข้าจากเกาหลีใต้ แจ้งต้นทุนซีไอเอฟชิ้นละ 211.86 บาท ต้นทุนรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ 264.83 บาท ราคาขายส่ง 300 มีส่วนต่างของราคาขายส่งกับราคาต้นทุนรวม 35.18 บาท ราคาขายปลีก 350 บาท มีส่วนต่างของราคาขายปลีกกับต้นทุนรวม 85.17 บาท ,นำเข้าจากจีน ต้นทุนซีไอเอฟ ชิ้นละ 89.88 บาท ต้นทุนรวม 124.74 บาท ขายส่ง 179.63 บาท ส่วนต่าง 54.89 บาท ขายปลีก 321 บาท ส่วนต่าง 196.26 บาท ,นำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ ต้นทุนซีไอเอฟชิ้นละ 221.71 บาท ต้นทุนรวม 277.14 บาท ขายส่ง 300 บาท ส่วนต่าง 22.86 ขายปลีก 350 บาท ส่วนต่าง 72.86 บาท เป็นต้น